svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

นักวิชาการหนุนเปิดเรียน 1 ก.พ.ย้ำรร.ไม่เคยเป็นแหล่งแพร่เชื้อ

28 มกราคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นักวิชาการด้านการศึกษาเห็นด้วยกับมาตาการเปิดเรียน 1 ก.พ.นี้ ชี้ช่วยดึงเด็กออกจากชุมชน ย้ำโรงเรียนไม่เคยเป็นแหล่งแพร่เชื้อ ขณะที่กสศ.อยากให้รัฐบาลช่วยทำโครงการ "โรงเรียนชนะ" เพื่อเยียวยาบุคลากรในโรงเรียน และผู้ปกครอง จากโควิด-19

28 มกราคม 2564 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ได้จัดเสวนาEquity Forum ในหัวข้อ "โรงเรียนต้องปรับตัวอย่างไร เมื่อโควิด-19 รุกรานการศึกษา?" ณ ลานกิจกรรม โซน A ณ สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาอาคารเอสพีทาวเวอร์

โดย ศ.ดร.สมพงศ์ จิตระดับ ที่ปรึกษา กสศ. กล่าวว่า เห็นด้วยกับมาตรการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. จะเปิดเรียนวันที่ 1 ก.พ.นี้ เนื่องจากโรงเรียนเปรียบเหมือนการ quanrantine เป็นการดึงเด็กออกจากชุมชน ซึ่งอาจเป็นแหล่งของเชื้อ และยังไม่มีการค้นพบว่าโรงเรียนเป็นแหล่งแพร่ระบาด หรือแหล่งเกิดเชื้อ ไม่อยากให้ผู้ปกครองเกิดความกลัวจนเกินไป ดังนั้น จึงเห็นด้วยที่ควรเปิดเรียน และยืนยันว่าสถานศึกษาไม่ใช่แหล่งแพร่เชื้อ มั่นใจว่าโรงเรียน คือ สถานที่ช่วยเด็กในการ quarantine และอยากให้มีโครงการ "โรงเรียนชนะ" เพื่อช่วยเยียวยาบุคลากรในโรงเรียน รวมไปถึงผู้ปกครองและนักเรียน อีกทั้ง อยากให้ศบค.ชุดใหญ่คิดโครงการนี้

ขณะเดียวกัน มองว่าในช่วง 45 วันที่ปิดเรียน ทำให้เกิดผลกระทบกับเด็กที่มีฐานะยากจนพิเศษ และเด็กที่เรียนออนไลน์รู้สึกได้รับความรู้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ไม่สามารถเทียบเท่ากับการเรียนในห้องเรียน โดยก่อนหน้านี้ ทาง กสศ. ได้จัดส่งกล่องดำหรือ "Black Box" สื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพื่อช่วยเหลือเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งมอบเด็กนักเรียนฐานะยากจนพิเศษใน 5 จังหวัดสีแดงเข้ม

ด้าน ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัย กสศ. กล่าวว่า จากสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ที่ต่อเนื่องยาวนาน จึงเกิดปรากฏการณ์ COVID Slide ที่นักเรียนต้องออกจากโรงเรียนเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้สภาวะการเรียนรู้ถดถอย ขณะที่การเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีทางการศึกษาเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถชดเชยการเรียนรู้ในโรงเรียนได้ทั้งหมด โดยเฉพาะกับเด็กยากจนด้อยโอกาส เด็กในพื้นที่ห่างไกล เด็กพิการ เด็กที่ต้องการการศึกษาแบบพิเศษ ซึ่งทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเมืองและชนบทขยายกว้างขึ้น

"เมื่อเปิดเทอมอยากให้อาจารย์เร่งฟื้นฟูให้กับนักเรียนโดยเฉพาะในด้านความรู้ที่หายไป ซึ่งควรให้มีการทำแบบทดสอบว่าในช่วงที่มีการหยุดเรียนนักเรียนมีความรู้แค่ไหน และต้องปรับวิธีการประเมินให้เหมาะสมกับสถานการณ์ มุ่งเน้นการพัฒนาเติมเต็มความรู้ที่หายไป" ดร.ภูมิศรัณย์ ระบุ

logoline