svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

เกษตรกรปล่อย "สับปะรดภูเก็ต" สุกคาต้น หาตลาดใหม่ทดแทน

26 มกราคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ภูเก็ต-โควิด-19 ระบาดกระทบยอดขายและราคาสับปะรดภูเก็ตลดกว่าครึ่ง ส่วนหนึ่งต้องยอมให้สุกเหลืองคาต้น ร่วมเกษตรจังหวัดภูเก็ต เร่งหาตลาดใหม่ทดแทน ขณะที่การขายออนไลน์ยังไม่ตอบโจทย์เหตุค่าขนส่งแพง

 26 มกราคม 2564  การแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงระลอกใหม่ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงผลผลิตทางเกษตรด้วย หนึ่งในนั้น คือ "สับปะรดภูเก็ต" เนื่องจากสถานประกอบการ โรงแรมที่พักและบริษัทนำเที่ยวต่างๆ ปิดตัว ทำให้ตลาดหลักหายไปเกือบทั้งหมด ส่งผลให้สับปะรดส่วนหนึ่งต้องสุกเหลืองคาต้น เนื่องจากขายได้น้อยกว่าผลผลิตที่ออกมา                จากเดิมก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ผลผลิตสับปะรดภูเก็ตไม่เพียงพอรองรับตลาด ต้องนำเข้าจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น พังงา กระบี่ เป็นต้น และมีราคาค่อนข้างสูง ผลละ 25 บาท เนื่องจากผ่านการรับรองเป็นสิงบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ Geographical Indications :GI และยังได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จึงเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มมูลค่าได้สูงถึง แต่เมื่อโควิด-19 ระบาด ผลผลิตออกมาเกินความต้องการทำให้ราคาลดลงกว่าครึ่ง   

เกษตรกรปล่อย "สับปะรดภูเก็ต" สุกคาต้น หาตลาดใหม่ทดแทน

นายวิชัย แซ่ตัน ประธานวิสาหกิจชุมชนสับปะรดภูเก็ต กล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เกษตรกรปลูกสับปะรดภูเก็ตก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากตลาดหลักทั้งโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร และบริษัทนำเที่ยวปิดกิจการ จากผลกระทบกระทบโควิดเช่นกัน ทำให้ผลผลิตที่ออกมาไม่มีตลาดรองรับ และบางส่วนต้องต้องปล่อยให้สุกคาต้น และราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเดิมราคาขายหน้าสวนผลละ 20-25 บาท เหลือเพียงผลละ 10-15 บาท โดยมีผลผลิตประมาณ 200,000 ผลต่อเดือน จากพื้นที่ปลูกสับปะรดประมาณกว่า 1,000 ไร่

เกษตรกรปล่อย "สับปะรดภูเก็ต" สุกคาต้น หาตลาดใหม่ทดแทน

นายวิชัย กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาว่า พยายามหาตลาดใหม่ๆ มาทดแทน ขณะเดียวกันได้รับการช่วยเหลือจากสำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ตให้นำผลผลิตไปจำหน่ายบริเวณหน้าสำนักงานฯ ซึ่งมีการจัดตลาดสินค้าเกษตรทุกวันพุธและวันพฤหัสบดี นอกจากนี้ทางเซ็นทรัลได้สั่งไปจำหน่ายในท็อปส์ทั่วประเทศ สัปดาห์ละ 400-500 ผล ขณะเดียวกันทางกลุ่มยังมีร้านจำหน่ายอยู่บริเวณถนนเทพกระษัตรีฝั่งขาเข้าเมืองภูเก็ตด้วย เพื่อช่วยกระจายผลผลิตให้กับสมาชิกของกลุ่ม

เกษตรกรปล่อย "สับปะรดภูเก็ต" สุกคาต้น หาตลาดใหม่ทดแทน

ทางด้านนายระวี รองแก้ว เจ้าของสวนคุณวี ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต กล่าวว่า ในส่วนของตนมีพื้นที่ปลูกประมาณ 30 ไร่ ขณะนี้มีผลผลิตออกมาวันละประมาณ 1,000 ผล แต่จำหน่ายได้ประมาณ 400-500 ผลเท่านั้น ทำให้เหลือสุกคาต้นและบางส่วนถูกขโมยไป ส่วนตลาดขณะนี้ได้นำส่งให้กับห้างค้าปลีกต่างๆ ในพื้นที่ และส่งพ่อค้าแม่ค้าผลไม้ ส่วนที่เหลือและผลสุกจะนำมาแปรรูปเป็นน้ำสับปะรดเพื่อจำหน่ายต่อไป ภาพรวมของกลุ่มสับปะรดภูเก็ตก่อนเกิดสถานการณ์โควิดเรามียอดจำหน่ายวันละประมาณ 1,000-3,000 ผล แต่ปัจจุบันเหลือวันละปราณ 300-400 ผล ยอดขายลดลงประมาณ 60-70% โดยเราพยายามเปิดตลาดออนไลน์เพื่อขายต่างจังหวัดแต่ทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากค่าขนส่งค่อนข้างสูงมาก

เกษตรกรปล่อย "สับปะรดภูเก็ต" สุกคาต้น หาตลาดใหม่ทดแทน


ขณะที่นายชาลี สิตบุศย์ เกษตรจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงการส่งเสริมการปลูกสับปะรดภูเก็ต ว่า เนื่องจากสับปะรดเป็นผลไม้ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น คือ ผลทรงกระบอกขนาดใหญ่ เนื้อสีเหลือสม่ำเสมอทั้งผล เยื่อใยน้อย มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว และมีแกนผลที่สามารถรับประทานได้ จึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดภูเก็ต หรือ GI สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค เป็นการเพิ่มมูลค่าทางการตลาดอีกทางหนึ่งด้วย ขณะเดียวกันทางสำนักงานได้เข้ามาช่วยส่งเสริมการจำหน่ายด้วยการจัดหาตลาดมารองรับในรูปแบบต่างๆ ทั้งการให้มีศูนย์กระจายผลผลิต, จัดหาลูกค้าประจำ, ร้านค้ารายย่อย, งานเทศกาล, การเปิดจุดจำหน่าย และตลาดห้างสรรพสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งจะต้องเร่งกระจายผลผลิตออกไปในตลาดให้มากขึ้น เพื่อช่วยลดภาระต้นทุน และให้เกษตรสามารถยืนอยู่ได้

เกษตรกรปล่อย "สับปะรดภูเก็ต" สุกคาต้น หาตลาดใหม่ทดแทน

logoline