svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ผ่าขบวนการขนต่างด้าวจากใต้ส่ง"อีสาน-อรัญฯ"สู่ปลายทางบ้านเกิด

23 มกราคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สถานการณ์การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย โดยลักลอบจากมาเลเซียเข้าไทย ผ่านสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าสู่ตอนกลางของประเทศ และส่งต่อชายแดนด้านต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานกลุ่ม CLMV หรือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนามนั้น

ถือเป็นวิกฤติที่ "เนชั่นทีวี" เกาะติดมาตลอด และชี้ให้เห็นถึงอันตรายของการขบวนการเหล่านี้ เนื่องจากเป็นตัวเร่งให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยวานนี้ พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว พร้อมเปิดสถิติการจับกุมเป็นครั้งแรกในพื้นที่ภาคใต้โดยข้อมูลจากแม่ทัพภาคที่ 4 ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ปีที่ผ่านมา นับถึงวันที่ 21 ม.ค. 2564 รวมเวลาไม่ถึง 4 เดือน มีสถิติการจับกุมแรงงานต่างชาติกลุ่มนี้แล้ว จำนวน 86 ครั้ง และจับกุมบุคคลต่างด้าวได้ 624 คน แยกเป็น- สัญชาติเมียนมา 408 คน ลาว 76 คน กัมพูชา 64 คน เวียดนาม 45 คน มาเลเซีย 21 คน จีน 2 คน บังคลาเทศ 1 คน และอื่นๆ รวม 26 คนพื้นที่ที่จับกุมได้ มีทั้งพื้นที่ชายแดนระหว่างการข้ามแดน บริเวณด่านตรวจ จุดสกัดในระหว่างการเคลื่อนย้าย และจากการพิสูจน์ทราบพื้นที่หลบซ่อนพักพิงนอกจากนั้น ยังสามารถจับ "ผู้นำพา" ได้ 15 คน พร้อมขยายผลตรวจค้นจับกุมอีก 13 ครั้ง ในพื้นที่จ.นราธิวาส ปัตตานี สงขลา และนครศรีธรรมราชขณะเดียวกัน ข้อมูลของแม่ทัพภาคที่ 4 ยังระบุว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานมีวัตถุประสงค์ เพื่อพาเดินทางออกจากประเทศมาเลเซีย ไปยังประเทศปลายทาง ซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิด สามารถแยกได้เป็น 2 กลุ่ม

ผ่าขบวนการขนต่างด้าวจากใต้ส่ง"อีสาน-อรัญฯ"สู่ปลายทางบ้านเกิด

โดยกลุ่มแรก เป็นขบวนการนำพาแรงงานสัญชาติกัมพูชา เวียดนาม และลาว จะมีการประสานงานกันระหว่างนายหน้าฝั่งไทย และนายหน้าฝั่งมาเลเซีย เพื่อรวบรวมบุคคลต่างด้าวในมาเลเซียที่ต้องการข้ามแดนมายังประเทศไทย พร้อมนัดหมายการเดินทาง ก่อนลักลอบเข้าประเทศ ผ่านช่องทางธรรมชาติ ข้ามแม่น้ำโก-ลก โดยจะมีการนัดเรือยนต์รับจ้างล่วงหน้า เมื่อข้ามมาแล้วจะมีรถยนต์มารับ เพื่อเดินทางต่อ โดยใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หรือรถตู้สาธารณะไม่ประจำทาง

ช่วงที่ข้ามมาแล้ว ถ้าทางสะดวก ไม่มีด่าน ก็จะเดินทางต่อเลย แต่ถ้าทางไม่สะดวก เจ้าหน้าที่ตรวจเข้ม ก็จะส่งเข้าที่พักพิง ไม่ว่าจะเป็น บ้านเช่า รีสอร์ท หรือโรงแรม เพื่อรอการส่งต่ออีกทอดหนึ่ง ปลายทาง คือ ตอนกลางของประเทศไทย ไปยัง อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว สำหรับชาวกัมพูชา เวียดนาม หรือชายแดนทางภาคอีสาน เพื่อลักลอบข้ามแดนกลับไปประเทศลาว หรือต่อไปเวียดนาม

ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นขบวนการนำพาแรงงานสัญชาติเมียนมา ซึ่งวิธีการจะเหมือนกับกลุ่มแรก แต่ "จุดพักหลัก" ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง จะอยู่ที่ อ.หาดใหญ่ และ อ.สะเดา จ.สงขลา ก่อนจะมี "กลุ่มนำพา" รับไปส่งอีกทอดหนึ่ง ไปยังพื้นที่ จ.ระนอง เพื่อเดินทางไปประเทศเมียนมาต่อไป

ซึ่งจะเห็นได้ว่า สายของขบวนการนำพา ถ้าเป็นแรงงานสัญชาติเมียนมา จะใช้เส้นทางเดียวกันกับที่เคยขนแรงงานชาวโรฮิงญา และแรงงานพม่ากลุ่มอื่นๆ คือ ใช้เส้นทางจากภาคใต้ตอนล่าง สู่จังหวัดอันดามัน แล้วจึงข้ามแดน ส่วนแรงงานขาเข้า ก็จะมาจากฝั่งอันดามัน ลงใต้ พักที่หาดใหญ่ และสะเดา แล้วรอเข้ามาเลเซีย

ผ่าขบวนการขนต่างด้าวจากใต้ส่ง"อีสาน-อรัญฯ"สู่ปลายทางบ้านเกิด



นอกจากนี้ "เนชั่นทีวี" ยังตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า แรงงานกลุ่มนี้เป็นกลุ่ม "แรงงานมีฝีมือ" ที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ของมาเลเซีย รวมถึงภาคเกษตร ไม่ใช่แรงงานประมง จึงถือว่าเป็นแรงงานที่มีเงินทุน ในการเดินทางมากพอสมควร โดยแรงงานเหล่านี้ ทนสภาพกดดันในมาเลเซียไม่ไหว เนื่องจากโควิดระบาดหนัก และทางการมาเลย์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ จึงหาทางเดินทางกลับบ้านเกิด โดยใช้ไทยเป็นทางผ่าน แต่การลักลอบข้ามแดน ก็นำเชื้อโควิดเข้ามาเช่นกัน โดยล่าสุดผลตรวจร่างกายแรงงานหลายคน ก็พบว่ามีเชื้อโควิด ต้องเข้ารับการรักษาและกักกันตัว

ผ่าขบวนการขนต่างด้าวจากใต้ส่ง"อีสาน-อรัญฯ"สู่ปลายทางบ้านเกิด

logoline