svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ผ่าแผน "อินเดีย" ผลิต-ส่งออก-ฉีด "วัคซีนโควิด-19" 300 ล้านคน

19 มกราคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นอกจากจะเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลกกว่า 1,300 ล้านคนแล้ว "อินเดีย" ยังเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ ที่กว่า 10 ล้านคน และเสียชีวิตมากกว่า 150,000 คนด้วย ส่งผลให้รัฐบาลอินเดียต้องเร่งฉีดวัคซีนประชาชนให้รวดเร็วและทั่วถึงมากที่สุด โดยโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของอินเดียได้เริ่มต้นขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา

ในเฟสแรก อินเดียจะเริ่มฉีดประชากร 300 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของประชากรทั้งหมดแบบไม่คิดค่าใช้จ่าย เริ่มจากบุคลากรการแพทย์ 30 ล้านคน ตามด้วยผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปและมีโรคประจำตัว 270 ล้านคน

ผ่าแผน "อินเดีย" ผลิต-ส่งออก-ฉีด "วัคซีนโควิด-19" 300 ล้านคน


รัฐบาลอินเดียตั้งเป้าให้การฉีดวัคซีนประชากรกลุ่มแรก 300 ล้านคน ต้องแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ดังนั้น คำถามสำคัญก็คือ อินเดียจะจัดหาวัคซีนปริมาณมหาศาลถึง 600 ล้านโดสภายในเวลาเพียง 6 เดือนได้อย่างไร?
อินเดียมีจุดเด่นอยู่ที่การเป็นประเทศผู้ผลิตวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นทุนเดิม โดยผลิตและส่งออกวัคซีนคิดเป็นสัดส่วน 60% ของทั้งโลก แต่หากเจาะจงเฉพาะวัคซีนโควิด-19 ปัจจุบันมีเพียง 2 ตัวที่ทางการอินเดียอนุมัติให้ใช้ได้ "เป็นการฉุกเฉิน" ซึ่งทั้ง 2 ตัวเป็นวัคซีนที่อินเดียผลิตขึ้นเองในประเทศ ได้แก่ 
1. วัคซีนของแอสตราเซเนกาและมหาวิทยาอ็อกซ์ฟอร์ดที่ผลิตโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดียหรือ SII ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า "โควิชีลด์" 
2. วัคซีนของบริษัทภารัตไบโอเทคร่วมกับสภาวิจัยการแพทย์ของรัฐบาลอินเดียที่มีชื่อทางการค้าว่า "โควาซิน"

ผ่าแผน "อินเดีย" ผลิต-ส่งออก-ฉีด "วัคซีนโควิด-19" 300 ล้านคน

อย่างไรก็ตามโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของอินเดียมีความท้าทายอย่างน้อย 4 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่

ผ่าแผน "อินเดีย" ผลิต-ส่งออก-ฉีด "วัคซีนโควิด-19" 300 ล้านคน


1. กำลังการผลิตและราคาวัคซีน ขณะนี้รัฐบาลอินเดียซื้อวัคซีนจาก 2 เจ้ามาแล้วรวมกัน 16.5 ล้านโดส ซึ่งยังไม่เพียงพอแน่นอน ขณะที่ฝั่งผู้ผลิตวัคซีนของแอสตราเซเนกาสามารถผลิตได้ 60-70 ล้านโดสต่อเดือน ส่วนวัคซีนของภารัตไบโอเทคมีสำรองอยู่แล้ว 20 ล้านโดส และคาดว่าจะผลิตได้ 200 ล้านโดสต่อปี 
ด้านราคาก็แทบจะ "ถูกที่สุดในโลก" โดยสนนราคาสำหรับวัคซีนของแอสตราเซเนกาอยู่ที่เพียงโดสละ 200 รูปี หรือราว 80 บาท แต่เป็น "ราคาพิเศษ" เฉพาะการสั่งซื้อของรัฐบาลล็อตแรก 100 ล้านโดสเท่านั้น หลังจากนั้นราคาอาจแพงกว่านี้ ส่วนราคาที่ขายให้กับภาคเอกชนจะแพงกว่าราคาที่ขายให้รัฐบาลถึง 5 เท่า
2. การกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง ระบบสาธารณสุขโดยรวมของอินเดียยังคงต้องพัฒนาอีกมาก ทำให้การขนส่งวัคซีนซึ่งต้องเก็บภายใต้อุณหภูมิที่เย็นอย่างสม่ำเสมออาจมีปัญหาและกระทบกับประสิทธิภาพของวัคซีนได้ แต่โชคดีที่วัคซีนทั้ง 2 ตัว สามารถเก็บภายใต้อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส หรือเทียบเท่าอุณหภูมิตู้เย็นปกติตามบ้านเรือนได้ ไม่ต้องเย็นขนาด -70 องศาเซลเซียสเหมือนของไฟเซอร์ ขณะเดียวกันทางรัฐบาลได้มีการซักซ้อมขั้นตอนการขนส่งและฝึกอบรมบุคลากรการแพทย์ไปแล้วก่อนหน้านี้
นอกจากนี้รัฐบาลอินเดียยังพัฒนาระบบขึ้นมาใหม่เรียกว่า "โค-วิน" เพื่อไว้ใช้สำหรับบริหารจัดการการกระจายวัคซีน โดยจะสามารถตรวจสอบทั้งข้อมูลเกี่ยวกับคลังวัคซีน อุณหภูมิ และความคืบหน้าในการขนส่งได้แบบเรียลไทม์

3. ประสิทธิภาพของวัคซีน แม้ผลการทดสอบทางคลินิกเฟส 3 เบื้องต้นของแอสตราเซเนกาพบว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพอยู่ที่ราว 70% แต่ก็เป็นการทดสอบในต่างประเทศ ไม่ใช่กับคนอินเดียเอง 
ขณะที่วัคซีนของภารัตไบโอเทคกำลังถูกวิจารณ์อย่างหนักเนื่องจากทางการอินเดียอนุมัติให้ใช้ฉุกเฉินทั้งที่ยังไม่มีการเผยแพร่ผลการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนออกมาเลย คาดว่าผลทดสอบจะออกมาในเดือนมีนาคมนี้ โดยมีกระแสข่าวว่าการอนุมัติ "ล่วงหน้า" เป็นความต้องการของรัฐบาลเพื่อสร้างกระแส "ชาตินิยม" ให้เห็นว่าวัคซีนที่อินเดียวิจัยเองก็ดีไม่แพ้ของต่างประเทศ ส่งผลให้คณะกรรมการด้านยาออกข้อแนะนำว่า การฉีดวัคซีนโควาซินของภารัตไบโอเทคต้องฉีดภายใต้การเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เท่ากับว่าผู้เข้ารับการฉีดได้กลายเป็น "หนูทดลอง" ไปโดยปริยาย แถมประชาชนยังไม่สามารถเลือกได้ว่าจะฉีดวัคซีนตัวไหนอีกด้วย
4. การส่งออกวัคซีน ในตอนแรกมีกระแสข่าวว่าอินเดียจะขอผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศให้เพียงพอก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยส่งออก แต่ภายหลังรัฐมนตรีสาธารณสุขได้ออกมายืนยันแล้วว่ารัฐบาลไม่ได้แบนการส่งออกวัคซีนแต่อย่างใด โดยสถาบันเซรุ่มของอินเดียเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "โคแวกซ์" ที่องค์การอนามัยโลกเป็นเจ้าภาพเพื่อช่วยจัดหาวัคซีนให้กับประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ซึ่งเบื้องต้นทางสถาบันตกลงจัดหาให้ 200 ล้านโดส แต่อาจเพิ่มเป็นหลักพันล้านโดสในภายหลังได้
นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดียกล่าวว่า นี่คือความภาคภูมิใจของคนอินเดียที่สามารถ "พึ่งตนเอง" ด้วยการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ใช้เองภายในประเทศได้ และนอกจากโลกจะรอคอยวัคซีนจากอินเดียแล้ว ประเทศต่างๆ ยังจับจ้องอินเดียด้วยว่าจะสามารถบริหารจัดการโครงการฉีดวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้อย่างไร

ผ่าแผน "อินเดีย" ผลิต-ส่งออก-ฉีด "วัคซีนโควิด-19" 300 ล้านคน

logoline