svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ภาคปชช.ร้องนายกฯเอาผิด"สุริยะ-สมศักดิ์"

18 มกราคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ เดินหน้าทวงถามนายกฯ เอาผิดรัฐมนตรีอุตสาหกรรม และรัฐมนตรียุติธรรม ละเว้นปฎิบัติหน้าที่เอื้อ บริษัท อัครารีซอร์สเซส ทำให้ประเทศไทยได้รับความเสียหาย ส่อเสียค่าโง่ซ้ำซาก

ท่ามกลางข่าวบริษัท คิงส์เกต จะถอนฟ้องรัฐบาลไทยในชั้นอนุญาโตตุลาการ เพื่อแลกกับการเข้ามาทำเหมืองแร่ต่อในประเทศไทย วันนี้ (18 ม.ค.) นางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ พร้อมตัวแทนประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีนายสุภรณ์ อัตถาวงษ์ ผู้ช่วย รัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี มารับเรื่องร้องเรียน ใน 4 ประเด็น ดังนี้
1.คัดค้านการจะให้สิทธิ์ตามกฏหมาย พ.ร.บ.แร่ฯ กับบริษัท คิงส์เกต เดินหน้าทำเหมืองทองคำในประเทศไทยได้ต่อไป 2.ขอให้เร่งดำเนินคดีเอาผิดกับบริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กรณีทำผิดกฎหมายในประเทศไทยให้ครบถ้วนทุกกรณี รวมทั้งให้เร่งดำเนินการเรียกค่าเสียหายจากการขุดถนนโดยไม่ได้รับอนุญาตมูลค่าความเสียหายจำนวน 1 แสน 4 หมื่นล้านบาท เพื่อมาชดใช้ให้กับประเทศไทยให้ครบถ้วน 3. ขอให้ ครม. อาศัยความตามพ.ร.บ.แร่ 2510 มาตรา 138 เพิกถอนประทานบัตร บริษัทอัครารีซอร์สเซส เนื่องจากทำผิด พ.ร.บ.แร่ 2510 มาตรา 43 และทำผิดเงื่อนไขท้ายประทานบัตร 4.ขอให้เร่งตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีพฤติกรรมปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
โดยฝ่ายชาวบ้านให้เหตุผลว่า สืบเนื่องจากการที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศไทย กรณีไม่เพิกถอนประทานบัตร และไม่เอาผิดบริษัท อัคราฯ ตาม พ.ร.บ.แร่ รวมทั้งขอให้นายกฯ เร่งตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กับนายสุริยะ และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม สืบเนื่องจากละเว้นไม่ดำเนินการเอาผิดกับบริษัท อัคราฯ ให้ครบถ้วนตามกฎหมายของประเทศไทย

ต่อมา ประชาชน ทราบจากข่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม รายงานครม. ช่วงเดือนธันวาคม ที่ผ่านมาโดยผลการเจรจากับบริษัทคิงส์เกต ค่อนข้างมีความชัดเจนว่าจะจบลงด้วยดีด้วยการถอนฟ้องรัฐบาลไทย และกลับมาลงทุนในไทยอีกครั้ง ภายใต้นโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ 2560 และพ.ร.บ. แร่ ฉบับใหม่ 2560 นอกจากนี้บริษัท คิงส์เกต อาจจับมือนักลงทุนไทยเพื่อลงทุนครั้งใหม่นี้ด้วย ภาคประชาชน ในนามกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ ไม่เห็นพ้องต่อการดำเนินการของกระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นการส่งผลให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศชาติและประชาชน
ภาคประชาชน เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ดังนี้1.คัดค้านการให้สิทธิ์ สำรวจและทำหมืองแร่ทองคำ บริษัท อัคราฯ หรือบริษัท คิงส์เกต ตามพ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 เนื่องจากจะเกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศชาติ และประชาชนจำนวนมากเนื่องจากการที่รัฐบาล คสช มีคำสั่งที่ 72/2559 ข้อ 2 เรื่องระงับการทำเหมืองแร่ทองคำ และการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ รายละเอียดตามคำสั่งเป็นเพียงแค่การไม่ต่อใบอนุญาตโรงงานที่สิ้นอายุลงตามปกติเพื่อตรวจสอบเนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนเรื่องผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพและ สิ่งแวดล้อม โดยความเห็นของมติคณะรัฐมนตรี หลังจากที่รัฐมนตรี 4 กระทรวงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนเห็นชอบในการยุติการทำเหมืองทองคำในประเทศไทยไว้เพื่อตรวจสอบแก้ไข อันเป็นไปโดยชอบด้วยสัญญาทางปกครองของประเทศไทยซึ่งรัฐบาลไทยเป็นผู้ให้สัมปทานจึงมีอำนาจเหนือกว่าเอกชนผู้ซึ่งรับสัมปทาน ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบข้อสัญญาของประเทศไทย
อีกทั้งขณะที่ไทยยุติการทำเหมืองทองคำพ.ร.บ.แร่ 2510 ยังมีผลใช้บังคับ มีมาตรา 9 ตรี กับมาตรา 9 ทวิ มีบทบัญญัติที่ปกป้องคุ้มครองประเทศไทยทำให้ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยความเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น ให้กับบริษัทอัคราฯ แต่อย่างใด อีกทั้งผลการตรวจสอบสอบสวนยังพบว่าบริษัท อัคราฯ ครอบครองสารพิษอันตราย และปล่อยให้รั่วไหลออกสู่ชุมชนภายนอกโดยรอบบริเวณพื้นที่การทำเหมืองแร่ทองคำ ประกอบกับผลตรวจสุขภาพร่างกายของประชาชนก็พบว่ามีสารโลหะหนักสารพิษอยู่ในร่างกายเป็นจำนวนมาก จึงเป็นเหตุทำให้การยุติการทำเหมืองทองคำในประเทศไทยเป็นไปโดยชอบเนื่องจากเป็นการปกป้องคุ้มครองประชาชนพลเมืองของประเทศไทยตามหลักสิทธิมนุษยชน
นอกจากนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ และผลการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือป.ป.ช. พบว่า บริษัท อัคราฯ ทำผิดกฎหมายไทยหลายกรณี เช่น การเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการไม่จัดทำรายงานอีไอเอ การรุกล้ำยึดถือครอบครองและทำลายพื้นที่ทรัพยากรป่าไม้ และถนนทางหลวง ทางสาธารณประโยชน์ ซึ่ง ดีเอสไอ มีความเห็นสั่งฟ้องไปยังอัยการเชี่ยวชาญคดีพิเศษแล้ว 4 ฐานความผิด ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ร.บ.ทางหลวง รวมทั้ง ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดกรณีการเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมืองซึ่งขณะนี้ได้ส่งเรื่องไปยังอัยการแล้วเช่นเดียวกัน
จากกรณีทั้งหมดจึงเป็นความชอบธรรมของประเทศไทยในการยุติการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ เนื่องจากประเทศไทยมีสิทธิ์ในการที่จะปกป้องคุ้มครองประเทศชาติและประชาชน ตามหลักสิทธิมนุษยชนแม้ว่าประเทศไทยจะถูกดึงเข้าสู่อนุญาโตตุลาการในห้วงเวลาที่ผ่านมา แต่ทว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งที่จะต่อสู้ทางคดีอย่างครบถ้วนจึงไม่ได้ตกเป็นรองทางกฎหมายแต่อย่างใดทั้งสิ้น

นอกจากนั้น ที่ประชาชน ไม่เห็นพ้อง และคัดค้านการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้ยับยั้งการดำเนินการที่จะส่งผลให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศชาติและประชาชนเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุผลดังนี้
1.พ.ร.บ.แร่ 2560 มาตรา 127 ประเทศไทยจะต้องจ่ายเงินชดเชยความเสียหายให้กับบริษัทอัคราฯ หรือบริษัทคิงส์เกต ถ้าหากประเทศไทยยกเลิกเพิกถอนอาชญาบัตรพิเศษหรือประทานบัตร ซึ่งกรณีดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อการเงินการคลังของประเทศ และขณะนี้พบว่ากระทรวงอุตสาหกรรม ได้อนุญาตพิเศษให้บริษัท อัคราฯ เพิ่มเติมแล้วใน จ.เพรชบูรณ์ และพบว่าล่าสุด ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังดำเนินการให้สิทธิ์ตาม พ.ร.บ.แร่ 2560 กับกลุ่มบริษัทอัคราฯ หรือบริษัทคิงเกตฯ ในลักษณะเดียวกันที่ จ.จันทบุรี ด้วย เป็นการอนุญาตให้สิทธิ์ บริษัทอัคราฯ เหนือมาตุภูมิของชาติไทย
2.เมื่อมีการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ พ.ร.บ.แร่ 2560 มาตรา 33 ให้สิทธิ์บริษัทอัคราฯ หรือบริษัทคิงส์เกต มีสิทธิ์ฟ้องร้อง ขับไล่ ดำเนินคดีเอาผิดกับประชาชน เนื่องจากจะเป็นการบุกรุกแปลงประทานบัตร
3.พ.ร.บ.แร่ 2560 มาตรา 54(4) เปิดช่องไม่ให้บริษัทเอกชน ยื่นขอใช้ประโยชน์ในที่ดินจากรัฐได้ถ้าหากที่ดินยังเป็นของรัฐ ดังนั้น กรณีดังกล่าว จึงอาจเป็นการกระทำเพื่อให้ประชาชนขาดสิทธิ์ในที่ดิน และอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ ให้กับบริษัทอัคราฯ ได้สิทธิ์เนื้อที่ดินอยู่อาศัยทำกินของประชาชนไปทำเหมืองแร่ทองคำหรือไม่ กรณีนี้ ภาคประชาชนได้ยื่นเรื่องให้กับ ป.ป.ช. และผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ดำเนินการสอบสวนแล้ว
ส่วนกรณี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ไม่ดำเนินการใดๆ ในขณะที่ข้อหาสำคัญที่ ดีเอสไอ ทำการสอบสวนไว้ได้หายไปจากสำนวนคดีจนทำให้เกิดความล่าช้าเสียหายต่อประเทศไทยมาจนถึงขณะนี้ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้ภาคประชาชน เชื่อได้ว่า นายสมศักดิ์ มีพฤติการณ์การละเว้นไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ อันส่งผลให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศไทยเป็นอย่างมากอยู่ในขณะนี้
ด้วยเหตุนี้ จึงขอให้นายกฯ เร่งดำเนินการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงต่อการปฏิบัติหน้าที่ ของนายสุริยะ กับนายสมศักดิ์ ด่วนที่สุด โดยหากพบว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบก็ขอให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการเอาผิดทางวินัยและทางอาญาให้ถึงที่สุดต่อไป

logoline