svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"ดีอีเอส" แจงปมทีมพัฒนา "หมอชนะ" ยุติบทบาท ด้าน "อ.ลอย-หมอแล็บ" เผยข้อมูลอีกมุม

18 มกราคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ดีอีเอส" ชี้แจงปมทีมพัฒนาแอฟ "หมอชนะ" ประกาศยุติบทบาทและส่งต่อให้ภาครัฐดูแลเต็มตัว โดยชี้ว่าเป็นเรื่องการพัฒนาและการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล แต่ย้ำยังทำงานร่วมกัน ขณะที่ "อ.ลอย-หมอแล็บแพนด้า" อ้างเป็นเพราะหน่วยงานของรัฐต้องการแก้ข้อมูลเรื่องความเสี่ยงของผู้ใช้งาน ซึ่งผิดจากวัตถุประสงค์ของผู้พัฒนา

18 มกราคม 2564 เพจ "ไทยคู่ฟ้า" ได้โพสต์ข้อความชี้แจงประเด็นการถอนตัวของทีมพัฒนาแอปพลิเคชั่น "หมอชนะ" โดยระบุว่า...
เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากกับกระแสข่าวกลุ่มอาสาสมัครพัฒนาแอปพลิเคชัน "หมอชนะ" ประกาศยุติบทบาท และส่งต่อให้ภาครัฐดูแลเต็มตัว
เรื่องนี้มีคำยืนยันจากกระทรวงดีอีเอส ว่าทุกฝ่ายทั้งดีอีเอส สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และกลุ่มผู้พัฒนาแอปฯ หมอชนะ "ยังทำงานร่วมกัน"
แต่การส่งต่อแอปฯ หมอชนะ ให้ภาครัฐกำกับอย่างเต็มตัว เกิดขึ้นเมื่อเดือน ธ.ค. 63 หลังจากโรคโควิดระลอกใหม่ระบาดมีความรุนแรงขึ้น โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มอย่างรวดเร็ว ทำให้ปริมาณการใช้งานแอปฯ หมอชนะ สูงขึ้นตามไปด้วย
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคำนึงถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจึงให้ผู้พัฒนาแอปฯ คือ กลุ่ม Code For Public และกลุ่มทีมงานอาสาหมอชนะ Mor Chana Volunteer Team ดำเนินการปรับปรุงระบบ โดยยกเลิกการขอข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อสกุล เบอร์โทรศัพท์ ในการลงทะเบียน ไม่ให้เก็บข้อมูลนั้นไว้ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ
นอกจากนี้ ยังขอให้ผู้พัฒนาตัดฟังก์ชั่นการทำงานออกหลายจุดเพื่อให้ใช้งานง่าย และไม่ลิดรอนสิทธิส่วนบุคคลของประชาชน เหลือเพียงการตรวจสอบหาผู้ที่อยู่ในพื้นที่เดียวกับผู้ติดเชื้อเพื่อแจ้งเตือนประชาชนเท่านั้น
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อมีปริมาณผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น ทำให้คลาวด์เก็บข้อมูลเดิมเริ่มไม่เพียงพอ จึงต้องใช้คลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) มารองรับการเก็บข้อมูล ซึ่งดูแลโดย บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)
ดังนั้น ข้อมูลที่กลุ่มผู้พัฒนาแอปฯ หมอชนะเผยแพร่ออกมา จึงเป็นคำชี้แจงให้ทุกคนทราบว่า ได้มอบแอปฯ นี้ให้กับภาครัฐ และไม่ได้อยู่ในความดูแลของกลุ่มแล้วโดยทางกลุ่มยังสนับสนุนการใช้งานของภาครัฐต่อไป
จากข้อมูลยืนยันได้ว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายยังร่วมกันทำงาน เพื่อให้การใช้งานเป็นไปอย่างราบรื่น สามารถรองรับจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
ยึดหลัก "การไม่ละเมิดข้อมูลและสิทธิส่วนบุคคล" และคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ


ด้าน นพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน หรือ "หมอแล็บแพนด้า" ก็ได้เปิดเผยเรื่องดังกล่าวในอีกแง่มุมหนึ่ง โดยบอกว่า
จากที่ได้ฟังทีมพัฒนาแอปหมอชนะเล่ามานะครับ เรื่องราวมีประมาณว่ากลุ่มที่ออกแบบแอปหมอชนะมีอยู่ 2 กลุ่ม ซึ่งเป็นทีมจิตอาสาเข้ามาช่วยกันต่อสู้โควิดที่ระบาดในบ้านเรา
กลุ่มแรก เป็นทีมงานรุ่นใหญ่ รุ่น Gen X เป็นทีมที่ออกแบบระบบโครงสร้างของแอป เซิร์ฟเวอร์ และการประมวลผลของแอป
กลุ่มที่สอง เป็นทีมงานรุ่นใหม่ Gen Y ที่ชื่อว่า code for public ทีมนี้จะช่วยกันทำในส่วนของตัวแอป เขียนแอปขึ้นมาเพื่อให้เราดาวน์โหลดนั่นแหละครับ
เดิมทีแอปนี้ถูกออกแบบให้แจ้งสถานะได้ว่าผู้ใช้มีความเสี่ยงแค่ไหน มีตั้งแต่ระดับไม่เสี่ยงเลยที่เป็นสีเขียว ไปจนถึง เหลือง ส้ม และติดเชื้อสีแดง เวลาที่เราไปอยู่ใกล้คนที่เขาเสี่ยง แอปนี้ก็จะเด้งเตือนขึ้นมา จะได้หลีกเลี่ยงได้ถูกเพราะเชื้อไวรัสมันอยู่ในตัวคน
แต่ทีนี้พอระยะหลังมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง ก็เริ่มมีหน่วยงานต่างๆเข้ามาขอแก้แอปให้ทุกคนเป็นสีเขียว ถ้ามีการติดเชื้อเดี๋ยวหน่วยงานจะสืบเองว่าใครบ้างที่เสี่ยงเป็นสีเหลือง สีส้ม กลายเป็นว่ามีแค่หน่วยงานที่รู้ว่าใครเสี่ยง แต่ประชาชนไม่รู้ ทำให้แอปนี้เกิดประโยชน์ต่อเฉพาะหน่วยงาน แต่ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์สูงสุด ทำให้ผิดวัตถุประสงค์ของกลุ่มที่เขียนแอปขึ้นมา
ก็เลยเป็นสาเหตุที่ทีมงานขอถอนตัวทั้งหมด และมอบแอปนี้ให้ทางการดูแล 100% แต่ก่อนจะส่งมอบ ทีมงานจะขอแก้ไขบักโปรแกรมให้ เช่น แอปกินทรัพยากรเยอะ เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้ผมขอเอาใจช่วยให้ทุกฝ่ายให้คุยกันด้วยดี และทำงานแบบเป็นเอกภาพ ประชาชนจะได้มีความเชื่อมั่น เพราะประชาชนคนไทยน่ารัก เขาพร้อมที่จะให้ความร่วมมืออยู่แล้วล่ะครับ


เช่นเดียวกับ นายลอย ชุนพงษ์ทอง นักวิชาการอิสระที่ใกล้ชิดทีมพัฒนาแอป ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลคล้ายกัน โดยบอกว่า สาเหตุที่ทีมต้องถอนตัว เพราะกรมควบคุมโรคไม่ยอมกำหนดให้คนติดเชื้อโควิดเป็นสีแดง ซึ่งผิดหลักการของแอปนี้ ถ้าให้เป็นสีเขียวกันทั้งแผ่นดิน แล้วแอปหมอชนะจะมีประโยชน์อะไร ไม่ต่างจากแอปขยะ ดังนั้นทีมพัฒนาจึงขอถอนตัวดีกว่า

logoline