svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ และ ความงาม

กรมควบคุมโรค ห่วงสุขภาพประชาชนในภาคใต้ หลังน้ำลดให้ระวังป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก

14 มกราคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมควบคุมโรค ห่วงสุขภาพประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม เมื่อน้ำเริ่มลดลง อาจมีน้ำขังตามภาชนะหรือวัสดุต่างๆ อยู่ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก

14 มกราคม 2564 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้พื้นที่ภาคใต้ น้ำเริ่มลดลงใกล้เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว และเมื่อน้ำลดจะมีน้ำขังอยู่ตามเศษภาชนะต่างๆ เช่น กล่องโฟม แก้ว ถุงพลาสติก ยางรถยนต์เก่า ถ้วยหรือกะลารองน้ำยางดิบ ประกอบกับในช่วงนี้มีการระบาดของโรคโควิด 19 ประชาชนบางส่วนทำงานอยู่บ้าน กรมควบคุมโรค จึงขอให้ถือโอกาสนี้ทำ Big Cleaning เก็บกวาดทำลายเศษขยะภาชนะเหล่านี้ให้เกลี้ยง เพื่อไม่ให้ยุงลายใช้เป็นที่วางไข่เพาะพันธุ์ลูกน้ำให้เติบโต ซึ่งเป็นพาหะนำเชื้อโรคติดต่อนำโดยยุงลายได้
โดยสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกตั้งแต่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2563 พบผู้ป่วย 71,293 ราย เสียชีวิต 51 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด ได้แก่ 5-14 ปี (ร้อยละ 35.9) รองลงมา คือ 15-24 ปี (ร้อยละ 25.9) และ 25-34 ปี (ร้อยละ 14.1) ตามลำดับ ในช่วง 4 สัปดาห์หลังสุดจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ นครสวรรค์ ชลบุรี กรุงเทพฯ แม่ฮ่องสอน และนครปฐม ตามลำดับ ส่วนจังหวัดทางภาคใต้ที่มีรายงานผู้ป่วยสูง 5 อันดับแรกคือ พังงา สงขลา ยะลา ตรัง และนราธิวาส ตามลำดับ

นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลายนั้น ขอให้ประชาชนสำรวจพื้นที่ที่มีน้ำขัง และร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณรอบๆ ตัวบ้านและในชุมชน โดยแนะให้ประชาชนเก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ ตามมาตรการ "3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค" ดังนี้
1.เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง
2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ
3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา

ทั้งนี้ หากประชาชนมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ซึ่งอาจมีลักษณะคล้ายกันหลายโรค ทั้งโรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก และโรคโควิด 19 จึงขอให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัย รับประทานยาลดไข้ 1-2 วัน โดยให้เลือกรับประทานยาแก้ไข้พาราเซตามอล หลีกเลี่ยงการทานยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ยาไอบูโพรเฟน แอสไพริน เพราะถ้าเป็นไข้จากโรคไข้เลือดออกยากลุ่มนี้จะส่งผลทำให้การรักษายุ่งยากและเสี่ยงต่อการทำให้มีอาการหนักมากยิ่งขึ้น หากทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับ การวินิจฉัยโรคหาสาเหตุว่าเกิดจากโรคอะไรและรับการรักษาต่อไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422 

กรมควบคุมโรค ห่วงสุขภาพประชาชนในภาคใต้ หลังน้ำลดให้ระวังป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก

logoline