svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

2020 ปีแห่งความตื่นเต้นด้าน "สำรวจอวกาศ"

04 มกราคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากดวงจันทร์ สู่ดาวอังคาร ไปจนถึงดาวเคราะห์น้อย ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นจุดหมายปลายทางที่มนุษย์โลกส่งยานอวกาศไปเยือนในรอบปีที่ผ่านมา ปี 2020 ที่ใครหลายคนมองว่าเลวร้ายจึงกลายเป็นอีกหนึ่ง "ปีอันน่าตื่นเต้น" สำหรับผู้ที่หลงใหลในเรื่องการสำรวจอวกาศ

"ดาวอังคาร" ยังคงเป็นเป้าหมายถัดจากดวงจันทร์ที่มนุษย์เฝ้าใฝ่ฝันอยากจะไปเหยียบให้ได้ แต่ก่อนอื่นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามีถึง 3 ประเทศที่ส่งยานอวกาศไปยังดาวเคราะห์แดงดวงนี้ "ในเวลาไล่เลี่ยกัน" และเตรียมจะเดินทางถึงจุดหมายเกือบพร้อมกันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ ทั้งยาน Perseverance ที่แปลว่า "ความทรหด" ของสหรัฐฯ โดยจะลงจอดในจุดที่เชื่อว่าเคยเป็นก้นแม่น้ำมาก่อนและขุดเจาะพื้นดินเพื่อเก็บตัวอย่างกลับมาวิเคราะห์หา "ร่องรอยของสิ่งมีชีวิต" นอกจากนี้ยังจะปล่อยเฮลิคอปเตอร์ลำจิ๋วที่มีชื่อว่า Ingenuity ขึ้นบินสำรวจด้วย

2020 ปีแห่งความตื่นเต้นด้าน "สำรวจอวกาศ"


ขณะที่ประเทศจีนได้ส่งยานลำแรก "เทียนเหวิน-1" หวังลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคาร ส่วนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ส่งยานอัล-อามัล ที่แปลว่า "ความหวัง" ไปยังดาวอังคารเพื่อประกาศศักดาเป็นชาติแรกในตะวันออกกลางเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี การก่อตั้งประเทศ อย่างไรก็ตามยานของยูเออีไม่ได้ลงจอดบนพื้นผิว แต่จะเพียงแค่บินสำรวจรอบวงโคจรเท่านั้น ด้านยานสำรวจ Rosalind Franklin ที่องค์การอวกาศของสหภาพยุโรปและรัสเซียพัฒนาร่วมกันต้องถูกเลื่อนจากกำหนดเดิมออกไปเป็นปี 2022 เนื่องจากปัญหาขัดข้องทางเทคนิคและผลกระทบจากโควิด-19

2020 ปีแห่งความตื่นเต้นด้าน "สำรวจอวกาศ"


จากดาวอังคารขยับเข้ามาที่ดาวบริวารของโลกอย่างดวงจันทร์ ซึ่งแม้มนุษย์เคยไปเยือนมาแล้วตั้งแต่หลายสิบปีก่อน แต่ดวงจันทร์ก็ยังคงเต็มไปด้วยปริศนาที่รอการค้นพบ โดยในปี 2020 ที่ผ่านมาต้องยกความสำเร็จในภารกิจเกี่ยวกับดวงจันทร์ให้กับประเทศจีน เพราะหลังส่งยานฉางเอ๋อ-4 ไปยังด้านมืดของดวงจันทร์ได้เป็นเจ้าแรกของโลกเมื่อปี 2019 แล้ว จีนก็ก้าวหน้าต่อเนื่องในภารกิจยาน "ฉางเอ๋อ-5" ซึ่งสามารถนำตัวอย่างหินหนัก 2 กิโลกรัมกลับมายังโลกได้เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 40 ปี

ไม่ใช่แค่จีนเท่านั้น อีกหนึ่งประเทศเอเชียที่ประสบความสำเร็จด้านอวกาศในปีที่ผ่านมาก็คือญี่ปุ่น โดยยานฮายาบูซะ 2 ได้นำฝุ่นผงจากพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยริวงุที่อยู่ห่างออกไปถึง "300 ล้านกิโลเมตร" กลับมายังโลกเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ขณะที่เมื่อเดือนตุลาคมยานโอซิริส-เร็กซ์ขององค์การนาซาก็ได้เก็บตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยอีกดวงหนึ่งชื่อว่าเบนนู แต่กว่าจะมาถึงโลกก็อีกกว่า 2 ปีข้างหน้า

2020 ปีแห่งความตื่นเต้นด้าน "สำรวจอวกาศ"


ปี 2020 ยังเป็นปีสำคัญที่บริษัทเอกชนด้านอวกาศได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะบริษัท "สเปซเอ็กซ์" ของมหาเศรษฐีอีลอน มัสก์ ที่ได้ส่งนักบินอวกาศชาวอเมริกัน 2 คนไปยังสถานีอวกาศนานาชาติหรือไอเอสเอสด้วยแคปซูลดราก้อนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่บริษัทเอกชนส่งมนุษย์ขึ้นสู่วงโคจร, เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 40 ปี ที่มนุษย์โดยสารยานอวกาศลำใหม่, และเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี ที่สหรัฐฯ กลับมาส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศจากแผ่นดินของตัวเองอีกครั้ง

2020 ปีแห่งความตื่นเต้นด้าน "สำรวจอวกาศ"


อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าความพยายามของสเปซเอ็กซ์จะประสบความสำเร็จทุกครั้ง อย่างเมื่อต้นเดือนธันวาคมยาน "สตาร์ชิป" ที่สเปซเอ็กซ์หวังใช้เป็นยานพาหนะส่งมนุษย์ไปดาวอังคารได้เกิดระเบิดขึ้นระหว่างการทดสอบ แต่โชคดีที่ยังเป็นการทดสอบโดยไม่มีมนุษย์อยู่ด้านใน

ปิดท้ายกันด้วยประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของนักบินอวกาศหญิง โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์คริสตินา คอช ชาวอเมริกันได้สร้างสถิติเป็นนักบินอวกาศหญิงที่ปฏิบัติภารกิจต่อเนื่องยาวนานที่สุดถึง "328 วัน" หรือเกือบ 1 ปี โดยในช่วงดังกล่าวเธอได้ร่วมกับนักบินหญิงคนอื่นทำภารกิจ "เดินอวกาศ (Spacewalk)" หญิงล้วนครั้งแรกด้วย

2020 ปีแห่งความตื่นเต้นด้าน "สำรวจอวกาศ"


ส่วนในปีใหม่นี้มีหลายภารกิจอวกาศที่ต้องจับตากันต่อตั้งแต่ในเดือนกุมภาพันธ์ที่คาดว่ายานทั้ง 3 ลำของ 3 ประเทศจะเดินทางไปถึงดาวอังคาร, องค์การนาซาเตรียมทดสอบจรวดลำใหญ่ลำใหม่ที่จะใช้ส่งมนุษย์กลับไปยังดวงจันทร์ในปี 2024, การปล่อยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ "เจมส์ เว็บบ์" เพื่อทำหน้าที่เป็นทายาทของกล้อง "ฮับเบิล", รวมไปถึงสเปซเอ็กซ์ที่เตรียมเดินหน้าส่งมนุษย์ไป "เที่ยวอวกาศ" ครั้งแรก สนนราคาที่นั่งละกว่า "1,500 ล้านบาท"

2020 ปีแห่งความตื่นเต้นด้าน "สำรวจอวกาศ"


เห็นความก้าวหน้าด้านอวกาศเกิดขึ้นรวดเร็วขนาดนี้ การส่งคนไทยไปดวงจันทร์ก็อาจไม่ไกลเกินฝันก็เป็นได้

2020 ปีแห่งความตื่นเต้นด้าน "สำรวจอวกาศ"

logoline