svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

นักวิจัยไขข้อสงสัย ‘สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้’ ถูกสร้างขึ้นอย่างไรกันแน่?

27 ธันวาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

งานวิจัยล่าสุดพบว่าสุสานกองทัพทหารดินเผาหรือสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้อันโด่งดัง ซึ่งตั้งอยู่ที่นครซีอัน มณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน มีแนวโน้มถูกก่อสร้างขึ้นทีละชิ้นโดยกลุ่มศิลปินมากกว่าจะเป็นรูปแบบการก่อสร้างที่ประกอบขึ้นพร้อมกันขนาดใหญ่

27 ธันวาคม 2563 งานวิจัยดังกล่าวซึ่งเผยแพร่ผ่านวารสารอาคิออลเมทรี (Archaeometry) ร่วมจัดทำโดยคณะผู้เชี่ยวชาญจากพิพิธภัณฑ์สุสานจักรพรรดิฉินสื่อหวง (จิ๋นซีฮ่องเต้) และมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ให้ความกระจ่างต่อข้อสงสัยที่มีมานานเกี่ยวกับรูปแบบการผลิตสมบัติทางวัฒนธรรมอันล้ำค่านี้
หลายงานวิจัยก่อนหน้านี้ชี้ว่ามีการใช้ระบบการผลิตแบบแยกส่วนในการสร้างสุสานกองทัพทหารดินเผา ซึ่งถูกประกอบขึ้นจากส่วนประกอบสำเร็จรูปที่คาดว่าถูกทำขึ้นในหลายโรงผลิตด้วยวัตถุดิบหลายประเภท และอาจใช้เทคนิคการเตรียมดินเหนียว แต่การค้นพบของงานวิจัยชิ้นใหม่นี้สอดคล้องกับแนวคิดที่ว่ารูปปั้นทหารดินเผาแต่ละชิ้นถูกทำขึ้นโดยโรงผลิตหรือกลุ่มศิลปิน
คณะนักวิทยาศาสตร์ใช้วิธีวิเคราะห์ด้วยวิธีเอกซ์เรย์ ฟลูออเรสเซนต์ สเปกโตรสโคปี (X-ray fluorescence spectroscopy) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ก่อความเสียหายต่อโบราณวัตถุ เพื่อวัดปริมาณองค์ประกอบทางธรณีเคมีของดินเหนียวของรูปปั้นที่ได้รับการซ่อมแซม 28 ตัว และวิเคราะห์ส่วนประกอบแต่ละส่วนของรูปปั้น รวมถึงแขนและผ้าคลุม ส่วนหัวและขาของม้า

นักวิจัยไขข้อสงสัย ‘สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้’ ถูกสร้างขึ้นอย่างไรกันแน่?

(แฟ้มภาพซินหัว : รูปปั้นทหารดินเผาของสุสานกองทัพทหารดินเผาหรือสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ ณ พิพิธภัณฑ์สุสานจักรพรรดิฉินสื่อหวง ในนครซีอัน เมืองเอกของมณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน วันที่ 5 ธ.ค. 2019)

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบเครื่องหมายบนรูปปั้น 18 ตัว โดยเครื่องหมายที่ถูกพบมากที่สุด 2 แบบ ได้แก่ "กง" (Gong) บ่งบอกถึงสถานที่พักอาศัยของจักรพรรดิโบราณหรือผู้เป็นอมตะ และ "เสียนหยาง" (Xianyang) หมายถึงเมืองหลวงของยุคราชวงศ์ฉิน
นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังพบความแตกต่างทางองค์ประกอบของรูปปั้นที่มีเครื่องหมายกงและเสียนหยาง ซึ่งคาดว่าเป็นสัญลักษณ์แทนของผลิตภัณฑ์ที่ถูกทำขึ้นจากโรงผลิต 2 แห่ง ที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาวัตถุเซรามิกสำหรับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในยุคราชวงศ์ฉิน (221-207 ก่อนปีคริสตกาล)
ปัจจุบันมีรูปปั้นมนุษย์และม้ามากกว่า 8,000 ตัว ถูกขุดพบในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ โดยรูปปั้นหลายร้อยตัวที่มีเครื่องหมายกงและรูปปั้นอีกหลายสิบตัวที่มีเครื่องหมายเสียนหยาง ถูกทำความสะอาดและบูรณะซ่อมแซมแล้ว
หลี่ซิ่วเจิน นักวิจัยของพิพิธภัณฑ์ฯ กล่าวว่ารูปปั้นที่มีเครื่องหมายกงดูมีความยิ่งใหญ่และถูกทำขึ้นอย่างประณีตมากกว่า และการที่รูปปั้นแต่ละตัวมีสารพัดข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยี ศิลปะ และการจัดระเบียบสังคมอันย้อนกลับไปมากกว่า 2,000 ปีก่อน ทำให้กองทัพทหารดินเผานี้น่าหลงใหลและน่าค้นหามาก
หลี่เสริมว่านักวิจัยพบว่าราชวงศ์ฉินสร้างกองทพทหารดินเผาขนาดใหญ่นี้จากรูปแบบการบริหารจัดการและกระบวนการผลิตจากโรงผลิต
ที่มา: Xinhuathai

logoline