svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ผ่าขบวนการ "อุ้ม-แลก" แรงงานต่างด้าว ต้นตอโควิดระบาดซ้ำ

21 ธันวาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การประกาศ "ล็อคดาวน์" จังหวัดสมุทรสาคร หลายคนอาจจะ "โยนบาป" ให้กับพี่น้องแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในบ้านเรา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมาทั้งหมด หากพิจารณาอย่างละเอียดจะพบว่า อาจจะไม่ได้มาจากแรงงานต่างด้าวเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ซึ่ง "เนชั่น ทีวี" ได้เจาะลึกข้อมูล พบว่า อีกสาเหตุของปัญหา มาจากความต้องการต้องการแรงงานต่างด้าวที่มากขึ้น เพราะมีหลายอาชีพที่คนไทย เลือกที่จะไม่ทำอาชีพเหล่านี้แล้ว จนทำให้เกิดความต้องการ และเป็นช่องว่างของกระบวนการลักลอบ "อุ้ม - แลก" แรงงานต่างด้าวทั้งแบบถูกและผิดกฏหมาย

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม บอกว่า วิธีการและขั้นตอนการจัดหาแรงงานต่างด้าว เพื่อส่งเข้ามายังประเทศไทย มีหลายช่องทางมาก เช่น หากเป็นแรงงานจากทางฝั่งเมียนมา ก็จะมีการจัดส่งเข้ามาตามช่องทางอำเภอต่างๆ อย่าง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งถือว่า เป็นจุดใหญ่สุดในการจัดส่งแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะนำชาวเผ่ากะเหรี่ยงและชาวมอญเข้ามาขายแรงงานในบ้านเรา ส่วนอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นจุดที่รองลงมา จุดนี้จะเป็นชาวเผ่าไทใหญ่เป็นหลัก ขณะที่ ช่องทางแถบจังหวัดกาญจบุรี จะเป็นกลุ่มแรงงานชาวมอญ และ กะเหรี่ยง และจังหวัดระนอง 


 สำหรับ ขั้นตอนการจัดส่งแรงงานต่างด้าว จะมีการเตรียมไว้แบบสำเร็จรูปอยู่แล้ว ตั้งแต่จำนวนของแรงงาน / ประเภทแรงงาน ทั้ง ชายและหญิง / อาชีพที่จะส่งแรงงานไปทำงาน รวมถึงจังหวัดที่มีความต้องการแรงงานต่างด้าว หากยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัด อย่าง จังหวัดสมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จะเน้นแรงงานที่จะเข้าไปประกอบอาชีพด้านประมง ส่วนพื้นที่อื่นก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของนายจ้างหรือนายหน้าที่มีออเดอร์เข้ามา 

ส่วนสาเหตุที่ยังคงมีแรงงานต่างด้าวทั้งถูกและผิดกฎหมาย ทะลักเข้ามาในบ้านเรา เนื่องจากสาขาอาชีพหลายอาชีพ ไม่มีคนไทยยอมจะทำ หรือหากมีก็น้อยมากๆ เช่น งานด้านประมง เป็นต้น จึงทำให้มีออเดอร์จากนายจ้างที่ต้องการแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานแทน

นอกจากนี้  ปัญหาใหญ่อีกเรื่องก็คือ นโยบายของภาครัฐที่ไม่จริงจังต่อการกำหนดข้อบังคับและระเบียบกับแรงงานต่างด้าว ทั้งระบบการคัดกรองอย่างจริงจัง เพราะยังมีช่องว่างให้กลุ่มคนบางกลุ่มลักลอบ "อุ้ม" แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้าประเทศผ่านไปยังช่องทางชายแดนจังหวัดต่างๆ ซึ่งทำให้มีแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองอย่างผิดกฏหมายเกินกว่าครึ่งของจำนวนทั้งหมดที่มีการขึ้นทะเบียนแรงงงาน รวมถึงการไม่นำแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนและกำหนดจำนวนความต้องการแรงงานที่ชัดเจน 


หากย้อนกลับไปดูมาตรการของภาครัฐในการกวาดล้างแรงงานต่างด้าวผิดกฏหมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะเห็นแค่การไล่จับแรงงานผิดกฏหมายเท่านั้น ฉะนั้น เมื่อมีการจับกุมและผลักดันออกนอกประเทศ เช่น จับกุมและส่งกลับไป 1 หมื่นคน ก็ทำให้เกิดความขาดแคลนแรงงาน 1 หมื่นคน และสุดท้ายก็ต้องนำแรงงานต่างด้าวเดินทางกลับเข้าใหม่อยู่ดี ซึ่งอาจจะเป็นแรงงานคนเดิมที่ถูกจับกุมไปได้เดินทางกลับเข้าประเทศไทยอีก เพราะไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนอย่างชัดเจน 


และอีกประเด็นที่น่ากังวลก็คือ ความหละหลวมที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมด กลายเป็นช่องว่างให้กับขบวนการลักลอบขนแรงงานเถื่อนเข้าสู่ประเทศ แน่นอนว่า อาจจะมีผลประโยชน์ก้อนโตที่น่าจะมีเจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็นเป็นใจอยู่ด้วย

ขณะที่มุมมองจากนักวิชาการอิสระด้านแรงงาน คุณบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ได้มีการโพสต์ข้อความผ่านโลกออนไลน์ ซึ่งได้ระบุถึงความเป็นอยู่ของกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ต้องอาศัยในบ้านเราอย่างลำบาก และไม่เอื้ออำนวยต่อการป้องกันโควิด-19 ว่า ตัวเมืองมหาชัย คือ สถานที่ทำงานของพี่น้องแรงงานข้ามชาติที่ใหญ่และหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ "Little Burma"  



ส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์มอญมากกว่า 70 % รองลงมาเป็นพี่น้องกะเหรี่ยง / พม่า / คะฉิ่น / ปะโอ / ลาว และกัมพูชา โดยจะใช้ภาษามอญ กะเหรี่ยง พม่า ในการสื่อสารเป็นหลัก โดยตัวเลขการจดทะเบียนแรงงานที่ถูกกฎหมายของมหาชัย มีจำนวน 233,071 คน แต่ก็มีจำนวนมากกว่าเท่าตัวที่คาดว่า จะไม่จดทะเบียนถูกต้องตามกฏหมาย ซึ่งควาดว่ามีประมาณ 4 แสนคนขึ้นไป 

 นักวิชาการอิสระด้านแรงงาน ระบุอีกว่า สำหรับ "Little Burma" จะมีการแบ่งพื้นที่เป็น 3 ประเภท คือ บริเวณพื้นที่แกะกุ้ง ซึ่งแบ่งเป็นล็อคของแพปลาแต่ละเจ้าของ หากวันไหนกุ้งเยอะ ก็จะมีการนำแรงงานมาส่งจำนวนมาก ซึ่งหมายถึงว่า พวกเขาก็จะมีงานและเงินเยอะขึ้นด้วย โดยพ่อค้าแม่ค้าจากจังหวัดใกล้เคียงจะมารับกุ้งจากที่นี่ไปขายต่อ ทั้งกรุงเทพ สมุทรปราการ นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี



 พื้นที่ต่อมาคือ อาคารห้องเช่า และพื้นที่ที่ใช้พักผ่อนหย่อนใจ โดยครอบครัวของแรงงานเหล่านี้ จะเช่าห้องอยู่รวมกัน บางรายไม่รู้จักกันมาก่อน แต่พอมีการแนะนำปากต่อปากกันมา เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและเหลือเงินไว้สำหรับจ่ายค่านายหน้าและค่าเอกสารต่างๆ 


ขณะที่ ห้องเช่าแต่ละห้อง จะมีขนาดประมาณ 10-15 ตารางเมตร มีห้องน้ำในตัว และเป็นส่วนหนึ่งของอาคารพาณิชย์สภาพทรุดโทรม โดยจะอาศัยอยู่รวมกันจำนวน 7-8 คนเป็นอย่างน้อย และพื้นที่สุดท้าย คือ พื้นที่ร้านค้า ทั้งร้านขายของ ร้านอาหาร ร้านเสื้อผ้า ร้านตัดผม ร้านขายหมาก ร้านน้ำชา คลินิกรักษาโรค และอื่นๆอีกมากมาย

logoline