svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"จุรินทร์"ยืนกรานไม่เอาระบอบสาธารณรัฐ

11 ธันวาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" ไม่เอาระบอบสาธารณรัฐ ชี้ทุกประเทศมีกฎหมายคุ้มครองประมุข ย้ำควรมี สสร. ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ต้องชั่งใจจะให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือคัดเลือก ลั่นเพราะทั้ง 2 แบบ มีทั้งข้อดี-เสีย

11 ธันวาคม 2563นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวระหว่างลงพื้นที่เพื่อ kick off กระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวพังงา-ภูเก็ต ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต ว่าตนและพรรคไม่เห็นด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทยเป็นระบอบสาธารณรัฐ หรือ คอมมิวนิสต์ เพราะมีจุดยืนชัดเจนว่าประเทศไทยต้องปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น คือ สิ่งที่เป็นจุดยืนและเป็นสิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับชัดเจนต้องไม่ไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆทั้งสิ้น

ส่วนคำถามเรื่องการยกเลิกมาตรา112 นั้น ทุกประเทศในโลกก็จะต้องมีกฎหมายที่คุ้มครองประมุขของประเทศด้วยกันทั้งสิ้น โดยกฎหมายมาตรา 112 ก็เป็นมาตราหนึ่งสำหรับประเทศไทย ที่คุ้มครองหรือปกป้องประมุขของประเทศไทย เช่นเดียวกับทุกประเทศในโลก คือ สิ่งที่อยากให้ทุกคนได้เกิดความเข้าใจ

สำหรับเรื่องสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. 200 คน ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะเป็นผู้กำหนด ขณะนี้การแก้รัฐธรรมนูญผ่านการรับหลักการวาระที่หนึ่งแล้ว และอยู่ในวาระที่สอง คือ ขั้นแปรญัตติทั้งหมด จะขึ้นอยู่กับกมธ.เป็นผู้พิจารณา ก่อนนำกลับมาพิจารณาในรัฐสภาใหญ่ แล้วมีมติอย่างใดอย่างหนึ่งในวาระที่สาม

ทั้งนี้ เรื่อง สสร.นั้นเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าในจำนวนประมาณ 200 คน ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ หรือมาจากการเลือกตั้งส่วนใหญ่แล้วมาจากการสรรหาบางส่วนซึ่งมีข้อดีข้อด้อยด้วยกันทั้งสองส่วน ถ้ามาจากการเลือกตั้งทั้งหมดก็อาจจะอ้างได้ว่าประชาชนเป็นผู้เลือกมาแต่อาจมีจุดอ่อนได้ ถ้าผลการเลือกตั้งที่ออกมากลายเป็นผู้ที่อิงอยู่กับพรรคการเมือง หรือในเส้นสายทางการเมืองได้รับเลือกตั้งมาจำนวนมาก สุดท้ายอาจจะกลายเป็นคล้ายกับสภาผัวสภาเมียเหมือนที่เกิดขึ้นในวุฒิสมาชิกกับสภาผู้แทนราษฎรในอดีตได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าผมจะมีความเห็นอย่างนั้น แต่มีข้อท้วงติงได้แต่ข้อดีคือสามารถอ้างได้ว่า มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนแต่สำหรับรูปแบบผสม คือ มาจากการเลือกตั้งส่วนใหญ่ แต่ว่ามาจากการสรรหาอีกจำนวนหนึ่งเหมือนกับร่างของพรรคร่วมรัฐบาล คือ ให้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน 150 คน และมาจากการสรรหา 50 คน ในจำนวน 50 คนนั้นประกอบด้วยตัวแทนของสภาผู้แทนจำนวนหนึ่ง วุฒิสมาชิกตัวแทนของวุฒิสภาจำนวนหนึ่ง และอีก 20 คนมาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการสรรหา ของที่ประชุมอธิการบดี หรือทางฝ่ายวิชาการและอีกจำนวนหนึ่งประมาณ 10 คนมาจากตัวแทนนักศึกษา

"จะช่วยให้เกิดความหลากหลายขึ้นเพราะบางครั้งการเลือกตั้งทั้งหมด นักศึกษาอาจจะไม่ติดสักคนก็ได้ สุดท้ายก็จะไม่มีตัวแทน หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญทั่วโลก ที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้อาจจะไม่ติดมาก็ได้ สุดท้ายอาจกลายเป็นจุดอ่อน จุดดีคือสามารถที่จะช่วยให้มีความหลากหลายและมีการผสมผสาน ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับกรรมาธิการที่จะเป็นผู้พิจารณา ผมเห็นด้วยที่จะต้องมี สสร.ยกร่างขึ้นมาใหม่ โดยไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 เพราะถ้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ไปเป็นสาธารณรัฐหรือคอมมิวนิสต์ก็ทำไม่ได้และไม่ควรทำ" นายจุรินทร์ กล่าว

logoline