svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

นักการเมืองมองสสร.คือความหวังแก้ไขรัฐธรรมนูญ

10 ธันวาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ครช." จัดเสวนา "สสร.กับก้าวต่อไปในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ด้าน "คำนูณ สิทธิสมาน" สะท้อนประวัติศาสตร์ไม่ต่างจากปี 2539 เชื่อจะผ่านวาระ 3 ขณะที่ "ทวี-พนัส" หนุนสภาร่างรธน.มาตามแบบไอลอว์เสนอ เพราะสมบูรณ์แบบที่สุด ส่วน "นิกร" หวัง 5 ปี ดำเนินการสำเร็จ เจือจางความเป็นสีเขียวทหาร

10 ธันวาคม 2563 คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือ ครช. จัดงานงานเสวนา "สสร.กับก้าวต่อไปในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" โดยมีนายอนุสรณ์ อุณโณ ประธาน ครช. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วมงานดังกล่าว

โดยนายคำนูณ กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย เนื่องจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ในประเทศเกิดขึ้นมา 4 ครั้ง โดยการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ในปี 2539 ซึ่งเป็นการแก้รัฐธรรมนูญปี 2534 มีความใกล้เคียงกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเกิดจากคณะรัฐประหาร ตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา โดยสิ่งที่ต้องพิจารณาว่าครั้งนี้จะเป็นประวัติศาสตร์กว่าปี 2539 นั้น ผ่านทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทั้งประเทศและทั่วประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก

ส่วนจะเป็น 200 คนตามร่างของพรรคเพื่อไทย หรือเกิดจาก 150 คน ของร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ในขณะนี้ได้ทำการแก้ไขเพิ่มเติมที่ให้ตั้ง สสร.ในการแก้ไขมาตรา 211 แต่ให้แก้มาตรา 256 คือ แก้วิธีแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน ซึ่งมองว่าผู้ที่ค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ต้องการให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เนื่องจากไม่มีที่ใดในโลกอนุญาตให้หน่วยงานภายนอกเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ จะมีการยื่นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย

"เชื่อได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านสภาฯ ในวาระ 3 ในช่วงวันที่ 28 ก.พ. แต่กระบวนการยังไม่แล้วเสร็จ ต้องผ่านการทำประชามติก่อน ซึ่งต้องมีการออกพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติตามมาด้วย รวมไปถึงต้องผ่านด้านของศาลรัฐธรรมนูญที่มีการร้องให้วินิจฉัยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" นายคำนูณ กล่าว

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า สถานการณ์จุดเปลี่ยนทางการเมืองในครั้งนี้ คือ เงื่อนไขของสังคม สภาพแวดล้อมที่มองว่าเป็นภัยของประชาชน และตัวแปรสำคัญอย่างผู้นำ ซึ่งเป็นผู้ฉีกรัฐธรรมนูญ ส่วนเงื่อนไขที่มองไม่เห็น คือ เงื่อนไขของยุคสมัยและการตื่นรู้ของประชาชน เห็นได้จากการชุมนุมที่ผ่านมา มีการพูดถึงรัฐธรรมนูญ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงรัฐสวัสดิการ ซึ่งเชื่อมั่นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ อยากคืนอำนาจไปให้เจ้าของอำนาจอธิปไตย ดังนั้น ขอให้เครดิตกับคนนอกสภาฯ ที่เห็นว่าภัยคุกคามคือรัฐธรรมนูญ

ส่วนการตั้ง สสร. เชื่อมั่นได้ในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่ใช่อำนาจของสภานิติบัญญัติแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยคงเป็นเรื่องที่ยาก ส่วนตัวให้ความสำคัญในสภาฯน้อยกว่านอกสภาฯ ต้องใช้ความรู้มากกว่าความรุนแรง ว่าทำไมต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านสสร. และสนับสนุนแนวคิดของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ที่สสร.จะเป็นใคร อายุเท่าใดก็ได้ และมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และส่วนตัวฝันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้มีการตื่นตัวและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้จัดทำ


นักการเมืองมองสสร.คือความหวังแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ด้านนายพนัส กล่าวว่า ในฐานะอดีต สสร. ปี 2539 มองว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ มีผลผูกพันธ์ทุกองค์กร ซึ่งรู้สึกเสียใจที่ทำให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นมาในประเทศ หากไม่มี สสร.นั้น มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ง่ายขึ้นกว่าเดิม เพราะไม่มี ส.ว.ที่จะต้องมาให้ความเห็นชอบ ซึ่งจะใช้เสียงเห็นชอบในสภา 3 ใน 5 เมื่อไม่มี สสร. จะเกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริง ในมาตรา 256 แต่อย่างน้อยรัฐธรรมนูญปี 2560 จะอยู่ยงคงกระพัน แต่ปัญหาคือใครจะเป็นผู้แก้ และสิ่งที่เห็น คือ มี ส.ว. บางคนต้องการ นำ สสร.มาจากไอลอว์เข้ามา ซึ่งมองว่าเป็น สสร. สมบูรณ์แบบที่สุด เลือกตั้งมาจากคนทั้งประเทศ จะสบายใจได้ว่าอิทธิพลทางการเมืองทั้งประเทศจะไม่ส่งผลมายัง สสร.นายนิกร กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ตั้งแต่ปี 2475 มีการศึกษาเรื่องการเมืองเปรียบเทียบประเทศไทย การเมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาไม่ถึงร้อยปี มองว่าพัฒนาการทางการเมืองอาจไม่ไปไหนเลย ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีการประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นนโยบายชัดเจน ซึ่งหวังว่า 5 ปี จะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ ยกเลิกกลไก 7 ข้อ เพื่อไม่ให้นำวุฒิสภามาบล็อก ส.ส. 500 คน และเชื่อได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขได้ เจือจางความเป็นสีเขียวของทหาร ให้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน และขณะนี้พอใจแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามสมควร

logoline