svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ทวี"มองร่างแก้รธน.พรรคร่วมรัฐบาลแก้โคตรยาก

08 ธันวาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ทวี สอดส่อง" เผยรัฐธรรมนูญ 2560 แก้ไขยากมากแล้ว แต่ร่างรธน.ที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอ "แก้โคตรยาก" ชี้อำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ในการครอบงำของ "ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ซึ่งแต่งตั้งวุฒิสภามา

8 ธันวาคม 2563 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ เปิดเผยว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 นับว่าเป็นฉบับที่แก้ยากที่สุด เพราะมี ส.ว. 250 คน มาจากการแต่งตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมแก้ไขด้วย

ทั้งนี้ โดยกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน การลงมติวาระที่ 1 ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งในจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา หรือ 84 คน

ส่วนวาระที่ 2 เสียงข้างมากเป็นประมาณ และวาระที่ 3 มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา โดยในจำนวนนี้ ต้องมีส.ส.จากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

อย่างไรก็ตาม แต่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล กลับวางเงือนไขให้แก้ได้ยากกว่า คือ กำหนดคะแนนเสียงเห็นชอบในวาระที่ 1 และวาระที่ 3 ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

"ทวี"มองร่างแก้รธน.พรรคร่วมรัฐบาลแก้โคตรยาก

พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีสมาชิกรัฐสภาที่เหลือสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้จำนวน 732 คน จากจำนวนเต็ม 750 คน แบ่งออกเป็นส.ว. 245 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ส.ส. จำนวน 487 คน โดยแยกเป็น ดังนี้

พรรคร่วมรัฐบาล 277 คน ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ 120 คน พรรคภูมิใจไทย 61 คน พรรคประชาธิปัตย์ 52 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 12 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 คน พรรคพลังท้องถิ่นไท 5 คน พรรคชาติพัฒนา 4 คน พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 คน พรรคเศรษฐกิจใหม่ 5 คน และนายอนุมัติ ซูสารอ พรรคประชาชาติ 1 คน

ขณะที่ฝ่ายค้าน จำนวน 212 คน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 134 คน พรรคก้าวไกล 54 คน พรรคเสรีรวมไทย 10 คน พรรคประชาชาติ 6 คน พรรคเพื่อชาติ 5 คน พรรคพลังปวงชนไทย 1 คน และนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ พรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 คน

ทว่า ร่างของรัฐบาล คะแนนเสียงเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมต้องใช้คะแนนเสียง 3 ใน 5 คือ เห็นชอบจำนวนไม่น้อยกว่า 440 คนดังนั้น เสียงของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล บวก ส.ว. รวมแล้วมีมากถึง 522 คน เกินไปจำนวน 82 คน ขณะที่คะแนนเสียงของพรรคฝ่ายค้าน มีเพียง 212 คนเท่านั้น ไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้เลย


"ทวี"มองร่างแก้รธน.พรรคร่วมรัฐบาลแก้โคตรยาก




ส่วนร่างแก้รัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายค้านเสนอ ในวาระที่ 1 เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา วาระที่ 2 เสียงข้างมากเป็นประมาณ และวาระที่ 3 คะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา ซึ่งข้อเสนอของพรรคฝ่ายค้าน จะเหมือนกับรัฐธรรมนูญในอดีตจำนวน 7 ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญปี 2517 ปี 2519 ปี 2521 ปี 2534 ปี 2540 ปี 2550 และฉบับชั่วคราว ปี 2557 กำหนดคะแนนเสียงเห็นชอบ วาระที่ 1 ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา วาระที่ 2 เสียงข้างมากเป็นประมาณ และวาระที่ 3 มากกว่ากึ่งหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญปี 2517 ปี 2519 และปี 2557 ใช้คำว่า "ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง" ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา

คะแนนเสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภาปัจจุบัน จำนวน 366 คน ที่พรรคฝ่ายค้านประสงค์จะแก้รัฐธรรมนูญ แม้เสียงไม่พอจำเป็นต้องรวมกับ ส.ส.พรรคฝ่ายรัฐบาล และหากตัดพรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ ออกจำนวน 120 คนออกแล้ว ส.ส.ที่เหลือจะมีจำนวน 369 คน ที่เกินไปเพียง 3 คน เท่านั้น

แม้ว่าการคาดหวังมีรัฐธรรมนูญใหม่จากการร่างของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ก็ตาม แต่ก็มีความจำเป็นที่จะได้แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60 ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปใช้รัฐธรรมนูญของประชาชน ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณเกือบ 2 ปี มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ต่อประชาชน อาทิ แก้ไขเรื่องการกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณให้ท้องถิ่นได้บริหารและปกครอง แก้ไขเพิ่มเรื่องสวัสดิการ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ด้อยค่ากว่าฉบับที่ผ่านมา

ส่วนการแก้ไขที่มาและอำนาจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระให้ยึดโยงกับประชาชน การแก้ไขอำนาจ ส.ว.แต่งตั้งที่มีมากกว่า ส.ส. การเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งเสียใหม่ ให้กลับไปใช้ระบบบัญชีรายชื่อ หรือ ปาร์ตี้ลิสต์ แบบเดิม คือ เลือกบัตรสองใบ หรือหากมีการเลือกนายกฯคนใหม่ ก็จะไม่ให้ ส.ว.มีอำนาจร่วมเลือกด้วย เป็นต้น ข้อเสนอแก้ไขของฝ่ายค้าน แม้ได้รับความรวมมือจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ก็แทบจะไม่สามารถกระทำได้

ทั้งนี้ ตามข้อเสนอของพรรคร่วมรัฐบาลดังกล่าวข้างต้น แสดงว่าอำนาจเบ็ดเสร็จยิ่งอยู่ในการครอบงำของ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้แต่งตั้ง ส.ว.มากขึ้น สังคมจึงไม่อาจคาดหวังอะไรจาก ส.ว. และพรรครัฐบาลได้ เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนกันอยู่ การแก้ไขแทบทำไม่ได้เลย เป็นเรื่องที่ "โคตรยาก" และเป็นการปิดประตูตายไม่ให้ฝ่ายค้านเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเป็นฝ่ายรัฐบาลกับ ส.ว. จะแก้ไขให้เป็นไปตามที่รัฐบาลเป็นเรื่อง่ายดาย ไม่ว่าในเรื่องใดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ไม่ต้องมีการลงประชามติ ย่อมสามารถกระทำได้ทุกเรื่อง เพราะคุมคะแนนเสียงรัฐสภาไว้เกินกว่า 3 ใน 5 อยู่แล้ว

logoline