svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

แนะพื้นที่น้ำท่วมดูแล ‘เด็กเล็ก-ผู้สูงอายุ’ เป็นพิเศษ เข้มจุดประกอบอาหาร ขยะ ส้วม ป้องกันโรค

04 ธันวาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงสุขภาพผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุต้องดูแลเป็นพิเศษ พร้อมแนะศูนย์พักพิงคุมเข้มจุดปรุงประกอบอาหาร โดยเน้นปรุงร้อน สะอาด ถูกสุขลักษณะ มีการจัดการสุขาภิบาลอาหารและสิ่งแวดล้อม ขยะ และใช้ส้วมอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันโรค

4 ธันวาคม 2563 นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์      น้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากในหลายจังหวัดของภาคใต้ ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ซึ่งศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก แจ้งเตือนช่วงวันที่ 1-4 ธันวาคมนี้ ภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะได้รับผลกระทบจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเข้าปกคลุม และหย่อมความกดอากาศต่ำ ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงดังกล่าวจึงต้องติดตามรายงานสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งดูแลสุขภาพตนเองและสมาชิกในครอบครัวโดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กและผู้สูงอายุเป็นกลุ่มวัยที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังไม่ปล่อยให้เด็กเล่นน้ำหรืออยู่ใกล้น้ำ และไม่ปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพัง เนื่องจากผู้สูงอายุสุขภาพร่างกายเสื่อมถอยตามอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ลดลง เช่น การทรงตัวไม่ดีแขนขาอ่อนแรง มีปัญหาทางสายตาและการได้ยิน ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุลื่นล้มจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ รวมถึงการ   เฝ้าระวังด้านสุขอนามัยในศูนย์พักพิงเนื่องจากคาดว่ามีประชาชนจำนวนมากที่อาศัยในศูนย์ดังกล่าวที่หน่วยงานราชการจัดเตรียมให้

แนะพื้นที่น้ำท่วมดูแล ‘เด็กเล็ก-ผู้สูงอายุ’ เป็นพิเศษ เข้มจุดประกอบอาหาร ขยะ ส้วม ป้องกันโรค


นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า  สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังและคุมเข้มคือสุขอนามัยส่วนบุคคล การปรุงประกอบอาหาร และการจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์แมลงและการระบาดของโรค     โดยศูนย์พักพิงที่ต้องมีจุดปรุงประกอบอาหารนั้น ต้องเลือกพื้นที่หรือสถานที่ทำครัวที่ให้ไกลห้องส้วมและที่เก็บขยะ ที่ระบายน้ำเสีย หรือที่เก็บสารเคมี โดยหลีกเลี่ยงการเตรียมหรือปรุงอาหารบนพื้น ควรมีโต๊ะเตรียมปรุงอาหารที่สูงจากพื้นป้องกันการปนเปื้อน  ต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบริเวณโต๊ะที่ใช้เตรียมปรุงอาหาร เตาหุงต้มอาหารเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะเขียงควรแยกเขียงหั่นเนื้อ หั่นผัก และอาหารปรุงสุก เขียงที่ใช้หั่นเนื้อสัตว์ต้องล้างขจัดคราบไขมันด้วยน้ำยาล้างจาน แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด และห้ามนำผ้าที่สกปรกมาเช็ด เพราะจะทำให้เชื้อโรคจากผ้าปนเปื้อนอาหารที่มีการหั่น สับ บนเขียงได้

แนะพื้นที่น้ำท่วมดูแล ‘เด็กเล็ก-ผู้สูงอายุ’ เป็นพิเศษ เข้มจุดประกอบอาหาร ขยะ ส้วม ป้องกันโรค


"ก่อนปรุงอาหารควรมีการล้างวัตถุดิบที่จะนำมาปรุงทุกครั้งด้วยน้ำสะอาด 2-3 ครั้ง ก่อนจะนำไปปรุงประกอบอาหาร ส่วนผู้ปรุงประกอบอาหารต้องปฏิบัติตนให้ถูกสุขลักษณะ เช่น ล้างมือก่อนปรุงอาหาร ไม่ใช้มือจับอาหารปรุงสำเร็จโดยตรง ถ้ามือมีแผลต้องปิดแผลให้มิดชิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับอาหาร ส่วนการบรรจุอาหารที่ปรุงสุกแล้วควรใส่ในภาชนะที่สะอาดและไม่ควรทิ้งระยะนานเกิน 2-4 ชั่วโมง หลังปรุงและบรรจุอาหารควรระบุวัน เวลา ในการกินให้ชัดเจนก่อนส่งให้กับผู้ประสบภัย เพราะหากเก็บนานเกินไปอาจทำให้อาหารบูดและเสียได้ สำหรับการจัดการขยะในจุดปรุงอาหารนั้น จะต้องมีถังขยะใส่เศษอาหารที่ทำด้วยวัสดุไม่รั่วซึม มีฝาปิด หากใช้ปิ๊ปควรมีถุงพลาสติกรองอีกชั้นหนึ่ง และต้องแยกขยะเป็นสองถังคือ ถังขยะเปียก และถังขยะแห้ง เพื่อง่ายต่อการกำจัด" นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าว
รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การใช้ส้วม เนื่องจากประชาชนที่อาศัยในศูนย์พักพิงมีจำนวนมาก ผู้ใช้จึงต้องให้ความสำคัญต่อพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะอย่างถูกต้อง โดยไม่ทิ้งขยะหรือวัสดุใด ๆ ลงโถส้วม ราดน้ำหรือกดชักโครกทุกครั้งหลังการใช้ส้วม และล้างมือทุกครั้งหลังการใช้ส้วม เพื่อสุขอนามัยที่ดีและป้องกันโรคในช่วงน้ำท่วม อาทิ อุจจาระร่วง บิด เป็นต้น
      

แนะพื้นที่น้ำท่วมดูแล ‘เด็กเล็ก-ผู้สูงอายุ’ เป็นพิเศษ เข้มจุดประกอบอาหาร ขยะ ส้วม ป้องกันโรค

logoline