svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

จุรินทร์เร่งจ่ายเงิน 'ประกันรายได้' ข้าว 4.68 หมื่นล้าน

04 ธันวาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จุรินทร์ เร่งจ่ายเงินประกันรายได้ข้าวพร้อมเงินหนุนช่วงนี้ ส่วนยางพาราจ่ายทั้งบัตรเขียว-บัตรชมพูเหมือนปีก่อน จี้เกษตร-การยางเร่งขั้นตอนพร้อมโอนเร็วๆนี้

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว 2 รอบและมีเม็ดเงินที่ได้เตรียมการไว้ 46,800 ล้านบาท ได้เริ่มดำเนินการจ่ายเงินส่วนต่างไปแล้ว 4 งวดตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2563 งวดถัดไปจะจ่ายวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ผู้ที่จะได้รับเงินส่วนต่างสูงสุดถึง 40,000 บาทโดยประมาณ และมีเงินช่วยเหลือเสริมไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ สูงสุด 20,000 บาท ขึ้นอยู่กับปริมาณการปลูกของเกษตรกร สำหรับผู้ได้รับเงินช่วยเหลือสูงสุดประกอบด้วยเงินส่วนต่าง 40,000 บาท เงินช่วยเหลือสูงสุด 20,000 บาท รวมเป็น 60,000 บาท โดยเงินช่วยเหลือรายละ 1,000 บาทจะแบ่งเป็น 2 งวด งวดละ 500 บาท งวดแรกโอนตั้งแต่วันที่ 3-5 ธันวาคม วันนี้เป็นวันแรกจะโอนเงิน 1,200,000 กว่าราย และจนกว่าจะครบทั้งหมด 
และมาตรการเสริมที่จะช่วยให้เกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าว ชะลอการขายเพราะเราไม่อยากเห็นข้าวเข้าสู่ตลาดมากจนเกินไปจนทำให้ราคาตกโดยมาตรการบรรลุผลแล้วโดยให้เกษตรกรหรือสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรเก็บข้าวไว้จะได้เงินช่วยเหลือตันละ 1,500 บาท โรงสีข้าวถ้าซื้อมาเก็บสต๊อกแล้วไม่ปล่อยออกสู่ตลาดจะได้รับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 3 ขณะนี้ราคาข้าวกระเตื้องขึ้นแล้วเช่น ข้าวเปลือกจ้าวตอนนี้ตันละ 9,000 กว่าบาท จากเดิมประมาณ 7,000 บาท และข้าวเหนียวรัฐบาลประกันรายได้ 12,000 บาท ตอนนี้ราคา 11,000 บาท จากที่ตกลงไปถึง 8,000 บาท ส่วนข้าวหอมมะลิรัฐบาลประกันรายได้ตันละ 15,000 บาท ตอนนี้ราคาขึ้นเป็น 13,000 กว่าบาท หลังจากที่ตกลงตันละ 10,000 กว่าบาท

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงเรื่องยางพาราว่า ตอนนี้ราคาขึ้นมากแล้วจากที่ยางแผ่นกิโลกรัมละ 40 กว่าบาทในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาราคายางแผ่นรมควัน 70 บาทต่อกิโลกรัมและยางแผ่นดิบ 60 กว่าบาทและน้ำยางข้น 55-56 บาท ยางก้อนถ้วย 42 บาท ถือว่าราคายางในช่วงนี้เพิ่มขึ้นมาก รัฐบาลมีนโยบายประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางซึ่งผ่านความเห็นชอบที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้วและเกษตรกรที่ถือบัตรสีชมพูก็จะใช้กติกาเดียวกับปีที่แล้วจะได้ส่วนต่างทั้งผู้ถือบัตรสีเขียวและผู้ถือบัตรสีชมพู ถ้าติดปัญหาอะไรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเข้าไปช่วยแก้ปัญหา โดยกระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปช่วยดูด้วยและที่สำคัญหน่วยปฏิบัติต้องเร่งโอนเงินส่วนต่างให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเกษตรกรรออยู่และมาตรการเสริมอื่นๆ เช่น เก็บสต๊อกยางไว้หรือช่วยเหลือผู้ประกอบการกิจการยาง เช่น ผลิตภัณฑ์ยางแห้ง ไม้ยาง โดยรัฐบาลจะช่วยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยจะเดินคู่ขนานกันไป 
รายงานจากการยางแห่งประเทศไทย ระบุว่าสถานการณ์ยาง (3 ธ.ค. 2563) การคาดการณ์ คือ ยางแผ่นรมควัน ปรับตัวเพิ่ม ไม่ต่ำ 2 บาท คาดว่าโรงงานเปิดไม่ต่ำ 68 บาท ราคาล่วงหน้าต่างเปิดตลาดจีนทะลุ 15,600 หยวนต่อตัน หรือ 72 บาท เพิ่มขึ้น 1%  ตลาดล่วงหน้าญี่ปุ่น ทะลุ 260 เยนต่อ ก.ก. หรือ 75 บาท บวก +3.8% ปริมาณยางแผ่นขาดตลาด ราคาน้ำยางสด ปรับเพิ่มขึ้นได้อีก จากฝนตกหนักและน้ำท่วมในภาคใต้ คาดว่าโรงานเปิดที่ 58 - 59 บาท ลานน้ำยางส่วนใหญ่เปิด 56 - 57 บาท หน้าสวน 52- 53 บาท ขณะที่สัปดาห์นี้จะมีฝนตกและน้ำท่วมในบริเวณภาคใต้โดยทั่วไป แทบไม่มีปริมาณน้ำยาง ยางก้อนถ้วย ปรับเพิ่มโรงงานทางใต้ 41.50 - 42.50 บาท โรงงานอีสาน 40 - 41 บาท ราคาขึ้นลงไม่แรง ยางทางเหนือ  อิสานยังมีผลผลิตต่อเนื่อง  ภาคใต้เปิดสูงกว่าภาคอิสาน ยางก้อนไหลจากเหนืออีสานมาทางใต้ เนื่องจากเกษตรกรหันไปขายน้ำยางสำหรับฝนฟ้า อาทิตย์หน้ามีการก่อตัวพายุทั้งฝั่งอ่าวไทย ถึงประเทศไทย ในวันที่ 1 - 3 ธ.ค. ยังคงมีฝน 70 - 80 % ในภาคใต้ไทย มาเลเชีย อินโดนีเซีย เวียดนาม จากอิทธิพลพายุทั้งอ่าวตั้งเกี่ยและอ่าวเบงกอล  และโรคใบร่วงทำความเสียหายกับผลผลิตยาง สำหรับมาตรการของรัฐบาล เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลผลักดันให้ราคายางที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ได้เช่นกันเนื่องจากนักเก็งกำไรราคายางยังคงมีความมั่นใจว่าโครงการต่างๆที่รัฐบาลดำเนินการสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและเป็นแนวรับที่ดีหากราคายางจะปรับลดลง อย่างไรก็ตามอัตราแลกเปลี่ยนยังเป็นข้อกังวลของราคายางหากเงินบาทแข็งค่า แต่มีปัจจัยบวกเรื่องราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับราคาสูงขึ้นยังสามมารถรักษาระดับราคายางได้
มาตรการเสริมซึ่งเป็นมาตรการคู่ขนานที่เป็นปัจจัยกระตุ้นราคาที่สำคัญคือ 1. มาตรการกำกับดูแลด้านปริมาณ ผู้ประกอบกิจการยางที่มีปริมาณการรับซื้อตั้งแต่เดือนละ 5,000 กก.ขึ้นไป แจ้งปริมาณการซื้อ ปริมาณการจำหน่าย ปริมาณการใช้ไป ปริมาณคงเหลือ และ สถานที่เก็บสินค้ายางพารา ตลอดจนให้จัดทำบัญชีคุมรายวัน 2. ส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ ระหว่าง ต.ค. 62 - ก.ย. 65 3.โครงการสนับสนุนสินเชื่อ 5 โครงการ คือ โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวมยาง (วงเงิน 10,000 ล้านบาท) ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ 1 เม.ย. 63 - 31 มี.ค. 64 โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูปยางพารา (วงเงิน 5,000 ล้านบาท) ระยะเวลาดำเนินงาน 1 ก.ย. 57 - 31 ธ.ค. 67 โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) (20,000 ล้านบาท) ระยะเวลาดำเนินงาน ม.ค. 63 ธ.ค. 64 โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง (วงเงินสินเชื่อ 25,000 ล้านบาท) ระยะเวลาโครงการ ปี 59 69 โดยสนับสนุนวงเงินชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ อัตราร้อยละ 3 (ไม่เกิน 600 ล้านบาท)

logoline