4 ธันวาคม 2563 ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ในฐานะนักกฎหมายชื่อดัง กล่าวกับ "เนชั่นทีวี" ในเรื่องนี้ว่า จริงๆ แล้วหากดูกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องรับสินบน จะพบว่ามีความผิดทั้งคู่ คือ ทั้งผู้ให้และผู้รับ โดยผู้ให้ถือเป็น "คนก่อให้เกิดการรับสินบน" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทำอะไรในทางที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
ทั้งนี้ แต่สาเหตุที่ไม่มีการฟ้องร้องคนจ่ายเงิน ก็ต้องย้อนไปดูว่า อัยการที่ยื่นฟ้องรับสำนวนมากจากใคร รับมาจาก ป.ป.ช. ป.ป.ท. หรือหน่วยงานต้นสังกัดแจ้งความเองกับพนักงานสอบสวน เพราะการจะเอาผิดบุคคลใดได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ 1.มีกฎหมายกำหนดความผิดเอาไว้หรือไม่ กับ 2.ถ้ามีกฎหมายกำหนดความผิดเอาไว้ ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวน ได้ทำสำนวนมาหรือไม่ กรณีนี้จะบอกว่าไม่เป็นความผิด ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะคนให้สินบนน่าจะผิดด้วย อย่างน้อยก็สนับสนุนให้เกิดการกระทำความผิด
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า ถ้าคนจ่ายเงินอ้างว่าโดนหลอก จะพ้นผิดได้หรือไม่ ศ.ดร.อุดม ย้อนถามว่า โดนหลอกไปทำอะไร ถ้าเป็นการโดนหลอกให้ทำสิ่งที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะตามน้ำหรือทวนน้ำ ก็เข้าข่ายรับสินบน และจะว่าไปการจ่ายเงินโดยไม่มีใบเสร็จ ก็น่าจะเข้าข่ายให้สินบนอยู่แล้ว ฉะนั้นเบื้องต้นต้องไปดูที่สำนักงานอัยการสูงสุด ว่าที่ไปฟ้องเฉพาะคนรับสินบน จะดำเนินการกับคนที่ให้สินบนอย่างไร
- ป.ป.ช. เผยทรัพย์สินอดีตบิ๊กเหล่าทัพ "บิ๊กแป๊ะ"รวยที่สุด 983 ล้านบ.
- "เทพไท"น้อมรับคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญให้สิ้นสุดสมาชิกภาพ
- กกต. เตรียมเลือกตั้งซ่อมนครศรีฯแทนที่ "เทพไท" นัดถกวางกรอบ 29 ม.ค.นี้!!
เมื่อซักต่อว่า หากจะเอาผิดคนจ่ายเงิน ใครจะเป็นเจ้าทุกข์ อดีต กรธ. บอกว่า ความผิดที่เป็นอาญาแผ่นดิน ไม่จำเป็นต้องมีคนไปร้องทุกข์ แต่เป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวน ป.ป.ช. หรือตำรวจสามารถดำเนินการได้เลย แต่อาจมีการกันผู้ต้องหาบางคนไว้เป็นพยาน กรณีนี้ถ้าจะเกิดก็เพื่อให้ได้ตัวพยานมายืนยันความผิดคนที่รับสินบน ก็อาจจะเป็นไปได้ที่มีการ "กันคนจ่ายสินบนเป็นพยาน" เพื่อเอาผิดคนรับสินบน เรื่องนี้อาจเป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนหรืออัยการก็เป็นได้
เมื่อถามแย้งว่า ในคำพิพากษาจำเลยให้การรับสารภาพ แบบนี้จำเป็นต้องกันใครเป็นพยานหรือไม่ อ.อุดม ตอบว่า ถ้ารับสารภาพ เรื่องของคนให้สินบน ก็อาจจะอ้างเป็นพยานได้ยาก เพราะคนรับสินบน อาจจะจำนนด้วยหลักฐานอยู่แล้ว ฉะนั้นต้องถามอัยการว่า ทำไมถึงไม่ฟ้องคนจ่ายเงิน ต้นเรื่องมาจากใคร จากอัยการเอง หรือผู้เสียหายไม่ได้ฟ้องเอาผิดตั้งแต่แรก เพราะถ้ามองว่าเป็นความผิดต่อส่วนตัว ความฉ้อฉลที่เกิดขึ้นระหว่างเอกชนด้วยกัน ตัวผู้ร้องทุกข์จะเป็นคนกำหนดว่าจะเอาผิดกับใคร แต่ถ้ามองว่าเรื่องนี้เป็นอาญาแผ่นดิน เป็นการทุจริตคอร์รัปชั่น แม้ไม่มีผู้ร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนก็สามารถดำเนินการได้ และน่าจะมีความผิดทั้งผู้ให้และผู้รับ