svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"อุดม"แนะถามอัยการปมไม่ฟ้องน้องธนาธร

04 ธันวาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ยังมีความคืบหน้าประเด็นข้อกฎหมาย สืบเนื่องจากคดีปลอมเอกสารหลอกให้เช่าที่ดินทำเลทองย่านชิดลม ซึ่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาจำคุก จำเลย 2 คน เป็นอดีตเจ้าหน้าที่ในสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) และนายหน้า ที่มีพฤติการณ์ปลอมเอกสาร และเป็นตัวกลางในการเรียกรับสินบน แต่เหตุใดจึงไม่ดำเนินคดีกับ นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ น้องชายของนายธนาธร ในฐานะที่จ่ายเงินให้กับจำเลย จำนวน 20 ล้านบาท ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการจ่ายสินบนด้วยเช่นกัน

4 ธันวาคม 2563 ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ในฐานะนักกฎหมายชื่อดัง กล่าวกับ "เนชั่นทีวี" ในเรื่องนี้ว่า จริงๆ แล้วหากดูกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องรับสินบน จะพบว่ามีความผิดทั้งคู่ คือ ทั้งผู้ให้และผู้รับ โดยผู้ให้ถือเป็น "คนก่อให้เกิดการรับสินบน" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทำอะไรในทางที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย 

ทั้งนี้ แต่สาเหตุที่ไม่มีการฟ้องร้องคนจ่ายเงิน ก็ต้องย้อนไปดูว่า อัยการที่ยื่นฟ้องรับสำนวนมากจากใคร รับมาจาก ป.ป.ช. ป.ป.ท. หรือหน่วยงานต้นสังกัดแจ้งความเองกับพนักงานสอบสวน เพราะการจะเอาผิดบุคคลใดได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ 1.มีกฎหมายกำหนดความผิดเอาไว้หรือไม่ กับ 2.ถ้ามีกฎหมายกำหนดความผิดเอาไว้ ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวน ได้ทำสำนวนมาหรือไม่ กรณีนี้จะบอกว่าไม่เป็นความผิด ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะคนให้สินบนน่าจะผิดด้วย อย่างน้อยก็สนับสนุนให้เกิดการกระทำความผิด 

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า ถ้าคนจ่ายเงินอ้างว่าโดนหลอก จะพ้นผิดได้หรือไม่ ศ.ดร.อุดม ย้อนถามว่า โดนหลอกไปทำอะไร ถ้าเป็นการโดนหลอกให้ทำสิ่งที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะตามน้ำหรือทวนน้ำ ก็เข้าข่ายรับสินบน และจะว่าไปการจ่ายเงินโดยไม่มีใบเสร็จ ก็น่าจะเข้าข่ายให้สินบนอยู่แล้ว ฉะนั้นเบื้องต้นต้องไปดูที่สำนักงานอัยการสูงสุด ว่าที่ไปฟ้องเฉพาะคนรับสินบน จะดำเนินการกับคนที่ให้สินบนอย่างไร 

เมื่อซักต่อว่า หากจะเอาผิดคนจ่ายเงิน ใครจะเป็นเจ้าทุกข์ อดีต กรธ. บอกว่า ความผิดที่เป็นอาญาแผ่นดิน ไม่จำเป็นต้องมีคนไปร้องทุกข์ แต่เป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวน ป.ป.ช. หรือตำรวจสามารถดำเนินการได้เลย แต่อาจมีการกันผู้ต้องหาบางคนไว้เป็นพยาน กรณีนี้ถ้าจะเกิดก็เพื่อให้ได้ตัวพยานมายืนยันความผิดคนที่รับสินบน ก็อาจจะเป็นไปได้ที่มีการ "กันคนจ่ายสินบนเป็นพยาน" เพื่อเอาผิดคนรับสินบน เรื่องนี้อาจเป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนหรืออัยการก็เป็นได้

เมื่อถามแย้งว่า ในคำพิพากษาจำเลยให้การรับสารภาพ แบบนี้จำเป็นต้องกันใครเป็นพยานหรือไม่ อ.อุดม ตอบว่า ถ้ารับสารภาพ เรื่องของคนให้สินบน ก็อาจจะอ้างเป็นพยานได้ยาก เพราะคนรับสินบน อาจจะจำนนด้วยหลักฐานอยู่แล้ว ฉะนั้นต้องถามอัยการว่า ทำไมถึงไม่ฟ้องคนจ่ายเงิน ต้นเรื่องมาจากใคร จากอัยการเอง หรือผู้เสียหายไม่ได้ฟ้องเอาผิดตั้งแต่แรก เพราะถ้ามองว่าเป็นความผิดต่อส่วนตัว ความฉ้อฉลที่เกิดขึ้นระหว่างเอกชนด้วยกัน ตัวผู้ร้องทุกข์จะเป็นคนกำหนดว่าจะเอาผิดกับใคร แต่ถ้ามองว่าเรื่องนี้เป็นอาญาแผ่นดิน เป็นการทุจริตคอร์รัปชั่น แม้ไม่มีผู้ร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนก็สามารถดำเนินการได้ และน่าจะมีความผิดทั้งผู้ให้และผู้รับ

logoline