svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เคลียร์ 2 ปมคาใจ...ทำไม "บิ๊กตู่" ได้ไปต่อ

03 ธันวาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ถือเป็นอีกหนึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีเสียงวิจารณ์มากที่สุด สำหรับคดี "บ้านพักหลวง" ที่กล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สาเหตุส่วนหนึ่งอาจไม่ใช่เพราะปัญหาในแง่มุมมองทางกฎหมายหรือระเบียบของกองทัพ แต่น่าจะเป็นเพราะสถานการณ์เมืองในปัจจุบันซึ่งมีความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย และเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งอยู่พอดี จึงทำให้คำพิพากษาที่ออกมา ถูกจับจ้องและวิพากษ์วิจารณ์เป็นพิเศษ

ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาอ่านคำวินิจฉัยเพียง 21 นาที ก่อนสรุปว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้าพักและอาศัยอยู่ในบ้านพักทหาร ซึ่งเป็นบ้านรับรองของกองทัพบก ทั้งๆ ที่เกษียณอายุราชการมานานถึง 6 ปีแล้วนั้น ไม่ได้เป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม หรือที่เรียกกันติดปากว่า "ผลประโยชน์ทับซ้อน" ทำให้ไม่ขาดคุณสมบัติ จนต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามที่ฝ่ายค้านยื่นคำร้อง

แม้คดีนี้จะจบลงไปแล้ว แต่เสียงวิจารณ์ยังไม่จบ โดยเฉพาะ 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ

1. งานนี้ศาลมองว่าระเบียบของกองทัพบก ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญหรืออย่างไร เพราะรัฐธรรมนูญสั่งห้ามรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด แต่ศาลบอกว่ารับได้ เนื่องจากมีระเบียบของกองทัพรองรับ

ประเด็นนี้ หากพิจารณาจากคำวินิจฉัยของศาลแล้ว ศาลไม่ได้บอกว่าระเบียบของกองทัพใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ เพียงแต่ข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 (3) นั้น ห้ามรัฐมนตรี หรือนายกฯ รับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยงานราชการ "เป็นพิเศษ" นอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการปฏิบัติต่อบุคคลอื่นๆ ในธุรกิจการงานปกติ นี่คือบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งต้องขีดเส้นใต้คำว่า "เป็นพิเศษ" เอาไว้

เคลียร์ 2 ปมคาใจ...ทำไม "บิ๊กตู่" ได้ไปต่อ



พูดง่ายๆ ก็คือ การรับเงิน หรือ "ประโยชน์ใดๆ" จากหน่วยราชการ หน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ก็ยังคงรับได้ แต่ต้องไม่ใช่รับ "เป็นพิเศษ" กว่าที่หน่วยราชการปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ซึ่งเรื่องนี้ทางกองทัพชี้แจงว่าระเบียบมีอยู่เดิมแล้ว อนุญาตให้อดีตผู้บังคับบัญชาระดับสูง เข้าพักในบ้านพักรับรองของกองทัพได้ และสนับสนุนค่าน้ำค่าไฟด้วย

ฉะนั้นเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นอดีตผู้บังคับบัญชา และทำคุณประโยชน์ต่อบ้านเมือง ก็เลยเข้าเกณฑ์ตามระเบียบนี้ และแม้จะเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาคนอื่น หากมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์แบบเดียวกัน ก็จะได้รับการสนับสนุนเหมือนกัน ไม่ใช่เฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ คนเดียวเพราะการจะเรียกว่า "ผลประโยชน์ทับซ้อน" ต้องได้มากเป็นพิเศษ จากการใช้ตำแหน่งหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้น เรื่องนี้จึงสรุปไม่ได้ว่า คำวินิจฉัยของศาล ทำให้ระเบียบของกองทัพบกใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ตามที่มีบางฝ่ายออกมาวิจารณ์

ประเด็นที่ 2 เป็นคำถามที่หลายฝ่ายยังคาใจ ก็คือ บ้านพิษณุโลก ซึ่งเป็นบ้านพักรับรองประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปิดซ่อมจริงหรือไม่ ทำไมถึงซ่อมนานเหลือเกินโดยประเด็นนี้ "ทีมข่าวเนชั่นทีวี" ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบช่วง 1 วันก่อนศาลอ่านคำวินิจฉัย ได้รับคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ว่า บ้านพิษณุโลกปิดซ่อม แต่ห้ามเข้าไปถ่ายภาพขณะเดียวกัน เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา ได้เปิดข้อมูลเกี่ยวกับการจัดจ้างเพื่อก่อสร้างปรับปรุงบ้านพิษณุโลก พบว่ามีงานว่าจ้างที่เกี่ยวข้องกับบ้านพิษณุโลก ตั้งแต่ปี 2558 - 2563 จำนวน 23 โครงการ รวมวงเงินกว่า 160 ล้านบาท โดยงานจ้างเพื่อก่อสร้างปรับปรุง เช่น งานตกแต่งภายใน สร้างโรงรถ ปรับปรุงศาลาแปดเหลี่ยม ปรับปรุงรางระบายน้ำ ฯลฯ

โดยสัญญาล่าสุด ระยะที่ 3 ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดสัญญาเมื่อปลายปีที่แล้ว คือ วันที่ 10 ธ.ค. 2562หลังจากนั้น ยังมีงานจัดซื้อจัดจ้างอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับบ้านพิษณุโลกต่อเนื่องมา เป็นงานติดตั้งระบบโทรทัศน์วงจรปิด และบำรุงรักษาสวน ทำความสะอาด

สรุปว่าบ้านพิษณุโลกมีการซ่อมแซมปรับปรุงจริงตลอด 6-7 ปีที่ผ่านมา แต่การซ่อมแซมปรับปรุงนั้น เป็นเรื่องใหญ่ถึงขนาดเข้าไปอาศัยอยู่ไม่ได้เลยหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามตรวจสอบกันต่อไป

logoline