svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ฝ่ายค้าน-ไอลอว์" ผสานเสียงหนุน สสร. ต้องมาจากเลือกตั้ง

03 ธันวาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ฝ่ายค้าน-ไอลอว์" เห็นพ้องสภาร่างรัฐธรรมนูญต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น เพื่อให้ตรงกับความต้องการของประชาชน ด้าน "จอน อึ๊งภากรณ์" ย้ำกฎหมายลูกอยู่ที่กมธ.พิจารณา ขณะที่ "สมคิด เชื้อคง" แขวะ "ไพบูลย์-สมชาย" เลิกเตะถ่วงแก้รธน.

3 พฤศจิกายน 2563 คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม) ที่มีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน ได้เชิญนายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ และ นายอุดม รัฐอมฤต อดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มาชี้แจงต่อ กมธ.

โดยนายจอน ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมโดยยืนยันว่า สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ (สสร.) 200 คนนั้น ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง หรือ รูปแบบปาร์ตี้ลิสส์ ให้ประชาชนสมัครเป็นกลุ่มเพื่อให้ประชาชนได้เลือก สสร. จากนโยบายและวิสัยทัศน์ และยืนยันว่ารูปแบบนี้จะทำได้ สสร. มาจากประชาชนในระดับพื้นที่ เพราะประชาชนที่สมัครเป็น สสร. สามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่มเครือข่าย เพื่อหาเสียงในพื้นที่ได้

"ผมมองว่า สสร. ไม่จำเป็นต้องมาจากผู้เชี่ยวชาญ เพราะเราต้องการให้ สสร. เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง แต่จะให้ผู้เชี่ยวชาญไปอยู่ในส่วนของ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไปแทน" นายจอน กล่าวและว่า ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และจะต้องมีการจัดทำกฎหมายลูกหรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของ กมธ. พิจารณา แต่ย้ำว่าร่างของประชาชนที่เสนอให้ยกเลิกกฎหมายปฏิรูป เนื่องด้วยเป็นกฎหมายที่มาจาก คสช. มีไว้เป็นกลไกแนวทางดำเนินการของรัฐบาลเลือกตั้ง ที่ คสช. ต้องการเห็น แต่ไม่ใช่ประชาธิปไตย และเป็นมรดกของเผด็จการ เพราะการสร้างประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง อำนาจเผด็จการต้องยกเลิกไปให้หมด

ขณะที่ นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษก กมธ. กล่าวว่า การประชุมวันนี้ (3ธ.ค.) ได้เชิญไอลอว์มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งเข้าใจว่าอาจมีบางเรื่องที่ยังไม่ได้ลงรายละเอียดเมื่อครั้งมีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณารับหลักการในวาระที่ 1 ก่อนหน้านี้ จึงอยากให้มาแสดงความคิดเห็น เช่น การเลือกตั้ง สสร. ที่มีลักษณะคล้ายกับการเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ นอกจากนี้ ยังเชิญ นายอุดม ในฐานะอดีต กรธ. มาให้ความคิดเห็น และอธิบายถึงหลักการ และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

ทั้งนี้ ส่วนญัตติของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ที่ขอให้รัฐสภาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ได้รับการประสานงานมาแล้วว่าญัตติดังกล่าวถูกชะลอออกไปอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งส่วนตัวขอเรียกร้องว่าไม่อยากเห็นภาพของการพยายามดึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ล่าช้า เพราะตอนนี้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในขั้นตอนของกมธ.แล้ว



logoline