svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ศบศ.เตรียมชงครม.รีขยายคนละครึ่งเฟส2-เราเที่ยวด้วยกัน

02 ธันวาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศบศ. เตรียมชงครม.พิจารณาขยายคนละครึ่งเฟส 2 วงเงินคนละ 3,500 บาท 5 ล้านราย พร้อมเพิ่มวงเงินสิทธิ์เดิมอีกคนละ 500 บาท รวมถึงขยายวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3 เดือน

3 ธันวาคม 2563 การประชุมศูนย์บริหารสถานการเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือ ศบศ. เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบมาตรการคนละครึ่ง ระยะที่สอง เสนอโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งมาตรการมีรูปแบบการดำเนินเช่นเดียวกับระยะแรก ที่ภาครัฐจะร่วมจ่ายร้อยละ 50 แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน แต่มาตรการในระยะที่สองเปิดให้มีการลงทะเบียนรับสิทธิเพิ่มเติมอีก 5 ล้านคน จะได้รับวงเงินคนละ 3,500 บาท

ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์จากโครงการคนละครึ่ง ระยะที่หนึ่ง เนื่องจากไม่ได้ใช้จ่ายภายใต้โครงการภายในวันที่กำหนดไว้หลังจากที่ลงทะเบียนรับสิทธิ์ไปแล้ว จะยังสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการระยะที่สองได้ โดยมีกำหนดการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. -31 มี.ค. 2564 ซึ่งการเพิ่มวงเงินผู้ได้รับสิทธิ์โครงการคนละครึ่งระยะที่หนึ่ง อีกคนละ 500 บาท โดยจะขยายระยะเวลาการใช้สิทธิมาตรการระยะที่หนึ่ง ออกไปจนถึงวันที่ 31มี.ค. 2564

นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบศ. เห็นชอบมาตรการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เสนอโดยกระทรวงการคลัง ด้วยการเพิ่มวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 3 เดือน โดยมีระยะเวลาการดำเนินการตั้งแต่เดือนม.ค.-มี.ค. 2564
   

ศบศ.เตรียมชงครม.รีขยายคนละครึ่งเฟส2-เราเที่ยวด้วยกัน


ส่วนมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งเสนอโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เห็นชอบการปรับปรุงโครงการ "เราเที่ยวด้วยกัน" โดยปรับปรุงขอบเขตการใช้สิทธิจำนวนการจองห้องพัก จากเดิมประชาชนจองที่พักได้ไม่เกิน 10 คืน (Room night) ต่อ 1 สิทธิ์ เพิ่มเป็น 15 คืนต่อ 1 สิทธิ์ รวมไปถึงขยายช่วงเวลาการจองที่พัก จากเวลา 06.00 21.00 น. เป็นเวลา 06.00 24.00 น.

นอกจากนั้น ยังเพิ่มจำนวนห้องพักในโครงการจากเดิม 5 ล้านคืน เป็น 6 ล้านคืน ทั้งนี้ จำนวนห้องที่เพิ่มมาจะสนับสนุนเฉพาะ E-voucher แต่ไม่อุดหนุนเรื่องค่าที่พัก พร้อมขยายระยะเวลาการใช้สิทธิ์โครงการถึงวันที่ 30 เม.ย. 2564 และเพิ่มโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาต แต่มีหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี และมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้สามารถเข้าร่วมโครงการได้

ขณะเดียวกัน พร้อมกับอนุมัติให้ธุรกิจและบริการที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยว สามารถใช้ระบบคูปองออนไลน์ หรือ E-Voucher ได้ ประกอบด้วย ธุรกิจการขนส่งภาคท่องเที่ยว ธุรกิจสปาหรือนวดเพื่อสุขภาพ และปรับปรุงเกณฑ์สนับสนุนค่าบัตรโดยสารเครื่องบินจากเดิมรัฐสนับสนุนร้อยละ 40 แต่สูงสุดไม่เกิน 2,000 บาทต่อ 1 สิทธิ์ เป็นสูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อ 1 สิทธิ

โดยเฉพาะการเดินทางไปท่องเที่ยวในจังหวัดที่ภาคท่องเที่ยวพึ่งพารายได้ จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูง ประกอบด้วย ภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่และเชียงราย โดยกำหนดหลักเกณฑ์การลาสำหรับข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และพนักงานรัฐวิสาหกิจ สามารถลาพักร้อนในวันธรรมดาเพิ่มได้ 2 วัน ไม่ถือเป็นวันลาเมื่อใช้สิทธิในโครงการ "เราเที่ยวด้วยกัน"

นอกจากนี้ ศบศ.ยังเห็นชอบการปรับปรุงโครงการกำลังใจ เปิดให้บริษัทนำเที่ยวที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ โดยใช้หลักเกณฑ์เดิมของโครงการ บริษัทนำเที่ยวที่กรอกรายการนำเที่ยวไม่ครบ 15 รายการ สามารถกรอกเพิ่มเติมได้ หากกรอกครบ 15 รายการแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมได้อีก และระยะเวลาที่จะเปิดให้สมัครเข้าร่วมโครงการและกรอกรายการนำเที่ยวภายใน 15 ธ.ค. 2563

อย่างไรก็ตาม ศบศ.ยังได้เห็นชอบโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุ โดยมีรายละเอียดดังนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการต้องมีอายุ 55 ปีขึ้นไป และจะต้องเดินทางท่องเที่ยวผ่านบริษัทนำเที่ยว โดยมีระยะเวลาของโปรแกรมการท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 3 วัน 2 คืน และเดินทางท่องเที่ยวได้เฉพาะวันธรรมดา (เข้าพักในวันอาทิตย์ถึงวันพฤหัสบดี) โดยมีราคาค่าใช้จ่ายต่อโปรแกรมไม่น้อยกว่า 12,500 บาทต่อคนต่อโปรแกรม และรัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายผ่านบริษัทนำเที่ยวในลักษณะร่วมจ่ายคนละ 5,000 บาท

สำหรับบริษัทนำเที่ยวที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องจดทะเบียนดำเนินธุรกิจ ก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2563 ทั้งนี้ บริษัทนำเที่ยวแต่ละรายสามารถรับนักท่องเที่ยว ผ่านโครงการได้ไม่เกิน 3,000 ราย โดยโครงการมีระยะเวลาการดำเนินการ 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

logoline