svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิด2แนววินิจฉัยศาลคดีบ้านพักทหารเขย่าทั้งครม.

01 ธันวาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คดี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงพักอยู่ในบ้านพักทหาร ภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ตามที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยคุณสมบัติขอนายกฯ ว่าขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์จนต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่

คำร้องของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย คือ ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) หรือไม่ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ กระทำการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187 ว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ กรณียังคงอาศัยอยู่บ้านพักทหารของกองทัพ ทั้งๆ ที่เกษียณอายุราชการจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. มาตั้งแต่ปี 2557 แล้ว

มาตรา 186 และ 187 โยงกลับไปที่มาตรา 184 ซึ่งเป็นข้อห้ามของบรรดา ส.ส. และ ส.ว. เพื่อป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ โดยให้นำมาใช้กับรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งมาตรา 184 (3) บัญญัติว่า ต้องไม่รับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อบุคคลอื่นๆ ในธุรกิจการงานปกติ

เนื้อความตามมาตรานี้เอง ที่เป็นคำร้องของ ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เนื่องจากนายกรัฐมนตรียังรับ "ประโยชน์ใดๆ" จากหน่วยราชการ คือ กองทัพบก กรณีพักอยู่ในบ้านพักทหาร ทั้งๆ ที่เกษียณอายุราชการไปแล้วประเด็นสำคัญที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยก็คือ ถ้าการพักอยู่บ้านพักทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ เข้าข่าย "รับประโยชน์ใดๆ" จากหน่วยราชการ ก็ต้องหลุดจากตำแหน่ง แต่ถ้าไม่เข้าข่ายก็ทำหน้าที่ตามปกติต่อไป

คดีนี้ฝั่งผู้ร้องไม่ได้มีข้อเท็จจริงประกอบคำร้องอะไรมากมาย นอกจากการกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังพักอยู่ในบ้านพักทหาร ซึ่งตัว พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยอมรับว่า "อยู่จริง" ฉะนั้นข้อมูลข้อเท็จจริงที่ศาลจะหยิบมาใช้ในการวินิจฉัย จึงมาจากคำชี้แจงของฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ และหน่วยงานของกองทัพบกเอง

เริ่มจาก พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจง 2 ประเด็น คือ- สาเหตุที่ไม่ได้ไปอยู่บ้านพักรับนายกรัฐมนตรี (บ้านพิษณุโลก) เพราะปิดซ่อมแซมปรับปรุง- สาเหตุที่ไปอยู่บ้านพักทหาร เนื่องจากง่ายต่อมาตรการรักษาความปลอดภัย และไม่เป็นการรบกวนประชาชนทั่วไปพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ชี้แจงสมัยเป็น ผบ.ทบ.ว่า- บ้านพักทหารมี 2 ประเภท คือ 1.บ้านพักสวัสดิการ สำหรับทหารชั้นยศต่างๆ เมื่อเกษียณอายุ หรือเปลี่ยนยศ เปลี่ยนตำแหน่ง ต้องคืนบ้าน 2.บ้านพักรับรอง สำหรับรับรองนายทหารชั้นผู้ใหญ่ หรืออดีตผู้บังคับบัญชาระดับสูง สามารถพำนักอยู่ต่อได้หลังเกษียณ- การเข้าพักที่บ้านพักรับรองของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นไปตามระเบียบของกองทัพบก ว่าด้วยการเข้าพักบ้านพักทหารปี 2555ต่อมา พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน ได้ชี้แจงประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญสอบถามเพิ่มเติม เรื่องผู้รับผิดชอบค่าน้ำค่าไฟ- กองทัพบกเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องค่าน้ำค่าไฟ- ผบ.ทบ.อ้างระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักบ้านพักทหาร พ.ศ. 2548 ข้อ 11 ระบุว่า ให้กองทัพบกพิจารณาความเหมาะสมในการสนับสนุนงบประมาณค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปา ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการพักอาศัยสรุปคำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ และกองทัพบก- อยู่บ้านพักทหารจริง แต่เป็นบ้านพักรับรอง อดีตผู้บังคับบัญชาที่เกษียณแล้วสามารถพักอยู่ต่อไปได้- สาเหตุที่อยู่บ้านพักทหาร เพราะบ้านพิษณุโลกปิดซ่อมแซม และง่ายต่อการรักษาความปลอดภัย- กองทัพบกเป็นผู้รับผิดชอบค่าน้ำค่าไฟ ตามระเบียบเมื่อปี 2548

สำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง คือ

1.พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกฯ เพราะการอาศัยอยู่ในบ้านพักทหาร ไม่ได้เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เนื่องจากมีระเบียบหลักเกณฑ์ของกองทัพบกรองรับทุกอย่าง

2.พล.อ.ประยุทธ์ ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกฯ เนื่องจากการอาศัยอยู่ในบ้านพักทหาร เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ถือว่าเป็นการ "รับประโยชน์ใดๆ" จากหน่วยงานราชการ เป็นพิเศษแตกต่างจากบุคคลอื่น โดยศาลอาจให้น้ำหนักเรื่องการพำนักอยู่ในบ้านพักทหารมานานเกินไป หรือประเด็นที่กองทัพบกต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าน้ำค่าไฟ ซึ่งถือว่าเป็นการรับประโยชน์ที่ตีเป็นมูลค่าได้เกิน 3,000 บาท ตามกฎหมาย ป.ป.ช.

แต่ถ้าศาลมองว่าการรับภาระค่าน้ำค่าไฟ มีกฎระเบียบของกองทัพรองรับ อาจไม่มีความผิด ก็เป็นไปได้เหมือนกัน

หากคำวินิจฉัยออกตามแนวทางที่ 2 คือ พล.อ.ประยุทธ์ต้องหลุดจากตำแหน่งนายกฯ ความผิดนี้ไม่ได้มีโทษตัดสิทธิ์ทางการเมือง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถกลับมาเป็นผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 บัญญัติห้ามไว้ ไม่ให้ผู้ที่เคยพ้นจากตำแหน่ง เพราะกระทำผิดเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 186 และ 187 กลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี อีกภายใน 2 ปี

ฉะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่สามารถเป็นนายกฯรักษาการได้ และคณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะด้วย แต่คณะรัฐมนตรียังรักษาการได้ และน่าจะเลือกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งขึ้นเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีแทน หลังจากนั้นจะมีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยต้องเลือกจากรายชื่อ "แคนดิเดต" ตามบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอก่อน

ซึ่งก็เหลือเพียง 5 คน คือคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายชัยเกษม นิติสิริ จากพรรคเพื่อไทย นายอนุทิน ชาญวีรกุล จากพรรคภูมิใจไทย และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์

logoline