svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ศาลรัฐธรรมนูญกับการทำหน้าที่กลางไฟการเมือง

30 พฤศจิกายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญท่ามกลางวิกฤตการณ์ขัดแย้งทางการเมืองในอดีต เคยมีการประกาศนำมวลชนบุกศาล จนต้องย้ายสถานที่อ่านคำวินิจฉัยมาแล้ว โดยเป็นการนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 2 ธ.ค. เช่นเดียวกัน แต่เป็นเมื่อ 12 ปีก่อน คือในปี 2551

โดยครั้งนั้น เป็นการนัดแถลงปิดคดียุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย โดยย้ายสถานที่จากศาลรัฐธรรมนูญ ไปใช้สถานที่ศาลปกครองแทน เนื่องจากมีผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. ตามไปประท้วง ขณะที่ผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่ง คือ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็ไปชุมนุมปิดสนามบินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สถานการณ์การเมืองสุดตึงเครียด เพราะกลุ่มพันธมิตรก็ชุมนุมยืดเยื้อมานานหลายเดือน และเพิ่มแรงกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นปิดสนามบิน ซึ่งถือเป็นการกดดันขั้นสูงสุด เพื่อบีบให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ลาออกจากตำแหน่ง

การแถลงปิดคดีเป็นไปอย่างรวดเร็วในช่วงเช้า และศาลอ่านคำวินิจฉัยในช่วงบ่ายวันเดียวกันทันที คือ สั่งยุบทั้ง 3 พรรค เนื่องจากกรรมการบริหารพรรคทุจริตเลือกตั้ง ทำให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง และต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่เพิ่งเข้าทำหน้าที่ได้เพียง 75 วันเท่านั้น และไม่เคยได้เข้าทำเนียบรัฐบาลเลยแม้แต่วันเดียว จนได้รับฉายาว่า "นายกฯนอกทำเนียบฯ"

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2551 ถือเป็นการผ่าทางตันทางการเมือง เพราะทำให้ม็อบยุติได้ โดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ประกาศยุติการชุมนุมทันทีในวันต่อมา ทำให้บางฝ่ายคิดเทียบเคียงว่า หากวันที่ 2 ธ.ค.ปีนี้ คือ ปี 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ้นจากตำแหน่งนายกฯ เนื่องจากยังพักอยู่ในบ้านพักทหาร ก็อาจส่งผลดีต่อสถานการณ์การเมือง ทำให้การชุมนุมของกลุ่มราษฎรที่ยืดเยื้อและยกระดับขึ้นเรื่อยๆ จนเกือบจะเป็น "ม็อบอนาธิปไตย" ยุติลงได้

แต่ต้องไม่ลืมว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 12 ปีก่อน ทำให้ม็อบยุติลงได้แค่ชั่วคราวเท่านั้น เพราะต่อมาเมื่อมีการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ คือ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ ปรากฏว่าในปี 2552 คือปีรุ่งขึ้น ก็มีการจัดชุมนุมขับไล่โดยกลุ่มคนเสื้อแดงทันที จนเกือบจะมีเหตุวุ่นวายเกิดขึ้น มีการนำรถแก๊สไปขู่ก่อวินาศกรรมที่ย่านดินแดง แต่ฝ่ายความมั่นคงควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้

จากนั้่นในปี 2553 ก็มีม็อบครั้งใหญ่อีกครั้งที่ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง กลายเป็นบาดแผลทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบันนับตั้งแต่ปี 2542 ที่ประเทศไทยมีศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้นมา ซึ่งเป็นการจัดตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองมาตลอด

แต่เดิมศาลรัฐธรรมนูญมีสำนักงานศาลอยู่ที่ "บ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์" ถนนจักรเพชร แขวงวังบูรพาภิรย์ เขตพระนคร ด้วยสถานที่ที่ค่อนข้างคับแคบ และมีทางเข้า-ออกทางเดียว ทำให้เคยถูกม็อบบุกล้อม คุกคาม และกดดันการทำหน้าที่ ขณะที่ตัวตุลาการเองก็ถูกปองร้ายมาหลายครั้ง เคยมีการนำชื่อ นามสกุล บ้านเลขที่ ประกาศบนเวทีชุมนุม เพื่อส่งสัญญาณให้มวลชนปฏิบัติการคุกคาม

จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ร้อนแรงและถูกข่มขู่คุกคามครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องตัดสินใจย้ายสถานที่นัดแถลงปิดคดีและอ่านคำวินิจฉัยเป็นการชั่วคราว เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2551 ในคดียุบ 3 พรรคการเมือง และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้ย้ายสำนักงานไปที่ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นที่ตั้งปัจจุบันของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

สำหรับคดีล่าสุดที่จะวินิจฉัยวันที่ 2 ธ.ค. ที่จะถึงนี้ คือ คดี พล.อ.ประยุทธ์ อาศัยอยู่ในบ้านพักทหารนับเป็นอีกคดีหนึ่งที่มีม็อบประกาศนัดหมายไปชุมนุมที่หน้าศาล ซึ่งก็คือม็อบราษฎร โดยมีเป้าหมายไปรอฟังคำวินิจฉัย แม้จะไม่ได้พูดออกมาตรงๆ ว่าไปกดดันศาล แต่การประกาศให้ถนนทุกสายมุ่งสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมเข้าข่ายเป็นการกดดันอย่างไม่ต้องสงสัย ฉะนั้นต้องรอดูสำนักงานศาลฯ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจะวางกำลังรับมืออย่างไร

logoline