svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

มองรัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้จริงแต่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ

28 พฤศจิกายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ชี้รัฐสวัสดิการสามารถเกิดขึ้นได้จริง และไม่เป็นภาระการเงินการคลังของประเทศ รับต้องหาแหล่งเงินด้วยการเก็บภาษี ด้าน "ทวี สอดส่อง" อัดรัฐธรรมนูญสร้างความเหลื่อมล้ำจึงจำเป็นต้องแก้

28 พฤศจิกายน 2563 เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ จัดมหกรรม "รัฐธรรมนูญสู่รัฐสวัสดิการ : ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ รัฐสวัสดิการ"ณ ห้องอเนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครโดยมีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ร่วมแสดงความเห็นในประเด็น ความเป็นไปได้ในการจัดสรรงบประมาณประเทศเพื่อรัฐสวัสดิการ

โดยนายพิธา กล่าวว่า เวลามีการพูดถึงเรื่องรัฐสวัสดิการหลายคนมักจะพูดถึงเรื่องของงบประมาณ แต่ไม่มีใครพูดถึงผลที่จะได้รับ ซึ่งวันที่ตนได้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค เป็นช่วงที่สวัสดิการสังคมถูกท้าทายมากที่สุด เป็นช่วงที่ภัยโควิด-19 เข้ากระแทกประเทศไทยอย่างรุนแรง และขอยืนยันว่าร่างพ.ร.บ.บำนาญชราภาพ เสนอ ไม่ต่ำกว่า 3,000 บาทนั้น มีความเป็นไปได้ และไม่เป็นภาระทางการเงินการคลัง

ทั้งนี้ แต่ต้องยอมว่าจะต้องใข้งบประมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งประมาณ 500,000 ล้านบาท เพราะปัจจุบันประเทศไทยกำลังอยู่ในยุคของวัยผู้สูงอายุ โดยการจะทำให้มีรัฐสวัสดิการนั้นจะต้องนำทหารออกไปก่อน ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลที่พรรคก้าวไกลได้เสนอร่างกฎหมายปฏิรูปทหาร เพื่อลดงบประมาณแล้วนำมาใช้ในรัฐสวัสดิการ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือการหารายได้จากแหล่งใหม่ๆ เช่น การจัดเก็บภาษี

มองรัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้จริงแต่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า วันนี้ (28พ.ย.) คิดว่ามีความเป็นไปได้ของรัฐสวัสดิการ แต่ก่อนที่จะถึงเรื่องความเป็นไปได้นั้น ก็มีความยาก ความท้าทาย เพราะการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย เพราะถือรัฐธรรมนูญนิยม ซึ่งคือรัฐธรรมนูญต้องเป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้น ต้องยอมรับว่าเมื่อเป็นรัฐธรรมนูญนิยมจะมีการแย่งชิงผลประโยชน์ ซึ่งประเทศไทยนั้นมี 4 รัฐมาโดยตลอด คือ 1.รัฐประหาร 2.รัฐธรรมนูญ 3.รัฐสภา และ 4.รัฐบาล แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ยังมีรัฐอิสระที่คอยจัดการตัวแทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่มาตามรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากประชาชนแต่มีอำนาจมาก

"รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่มีเรื่องของรัฐสวัสดิการ แต่เป็นเรื่องของการสงเคราะห์ทุกอย่าง เช่น เรื่องของผู้สูงอายุ ที่ต้องมีการไปพิสูจน์ความยากจน พิสูจน์ความยากไร้ ต้องทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเมื่อมาดูในเรื่องของงบประมาณ แทบจะไม่มีทางออก เพราะการจัดตั้งงบประมาณ จะต้องยึดตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ ดังนั้น การแก้ความเหลื่อมล้ำวันนี้ไม่ต้องแก้อะไรมาก เพียงแต่ทำให้ทุกคนมีสิทธิ์เสมอกัน นั่นก็คือรัฐสวัสดิการ ซึ่งก็ต้องย้อนกลับไปที่รัฐธรรมนูญที่จะต้องเขียนให้ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน" พ.ต.อ.ทวี กล่าว

นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีรัฐประหารเงียบอยู่ คือ ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ที่ให้ ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี โดยต้องยอมรับว่า ในระบบประชาธิปไตย อำนาจบริหารนั้นจะต้องยึดโยงกับประชาชน โดยประชาชนจะต้องสามารถเลือกนายกฯ ผ่านระบบตัวแทนได้ แต่วันนี้มีรัฐประหารเงียบ ทำให้ให้ประชาชนไม่สามารถเลือกนายกฯได้

ด้าน นายนิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.บำนาญชราภาพที่ภาคประชาชนได้เสนอไปนั้น ขณะนี้กฎหมายฉบับดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ยังไม่มีการตีตกหรือตอบรับใด ซึ่งคิดว่านี่คือความฉลาดของรัฐบาล ที่ยังมีการคิดหน้าคิดหลังอยู่ เพราะหากเป็นรัฐบาลไม่คิดเรื่องสวัสดิการของประชาชน จะปัดตกกฎหมายไปแล้ว นอกจากนี้กฎหมายฉบับดังกล่าว ปัจจุบันมีการเสนอผ่านคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สวัสดิการฯ ของสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นพรรครัฐบาลควบคุมอยู่ แต่พบว่าทุกพรรคเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ เพราะต้องการผลักดันให้สำเร็จ เพื่อเป็นผลงานของตัวเองเพื่อเอาใจประชาชน

logoline