svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ปลดล็อกกระท่อมพ้นยาเสพติดหวังปลูกสร้างรายได้ลดนำเข้ามอร์ฟีน

26 พฤศจิกายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"คณะรัฐมนตรี" ชงปลดล็อกกระท่อมออกจากยาเสพติดประเภท 5 เพื่อให้สอดรับกับหลักสากล และยังเปิดทางประชาชนปลูกสร้างรายได้ รวมถึงใช้เป็นพืชทางการแพทย์ เพื่อลดนำเข้ามอร์ฟีน แต่ปิดโอกาสเด็ก-เยาวชนเข้าถึง

27 พฤศจิกายน 2563 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กล่าวระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ พ.ศ.... ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีหลักการ คือ การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ในประเด็นดังนี้ 1.ยกเลิกพืชกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 2.ยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับการประกาศให้ท้องที่ใดเป็นท้องที่ที่ทำการเสพพืชกระท่อมได้โดยไม่เป็นความผิด โดยยกเลิกมาตรา 58/23.ยกเลิกบทกำหนดโทษและอัตราโทษสำหรับความผิดเกี่ยวกับพืชกระท่อม โดยยกเลิกมาตรา 75 วรรคสาม มาตรา 76 วรรคสอง มาตรา 76/1 วรรคสามและวรรคสี่ และมาตรา 92 วรรคสอง

รมว.ยุติธรรม กล่าวต่อว่า โดยที่ปัจจุบันพืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 แต่ในหลายประเทศ มิได้กำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ ประกอบกับอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ.1961 และพิธีสารแก้ไขอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ.1972 มิได้กำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล และบริบทของสังคมไทยในบางพื้นที่ที่มีการบริโภคพืชกระท่อมตามวิถีชาวบ้าน สมควรยกเลิกพืชกระท่อมจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.นี้

ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับจากร่างกฎหมายนี้ คือ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น 1.ใช้ผลิตยาแก้ปวดทดแทนมอร์ฟีนได้ โดยกระท่อมจะมีราคาที่ถูกกว่ามอร์ฟีนมาก หากมีการส่งเสริมจะลดค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อยาจากต่างประเทศได้ 2.สามารถนำพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์ทางเกษตรกรรม หากมีการส่งเสริมการนำพืชกระท่อมมาสร้างรายได้ให้กับประชาชน หากเปรียบเมียบกับอินโดนีเซีย ที่ส่งเสริมการปลูกและส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าสูงมากในอัตราไม่เกิน 1.5 ล้านต่อเดือน ราคากิโลกรัมละ 16 เหรียญสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม เป็นข้อมูลของ ป.ป.ส.อินโดนีเซียน ที่ได้รับมาตั้งแต่ พ.ศ. 2562 แต่ปัจจุบันพืชกระท่อมของอินโดนีเซีย ตรวจพบสารปนเปื้อน จึงกระทบต่อการส่งออกพอสมควร 3.ลดความเป็นอาญา และลดภาระการบังคับใช้กฎหมาย โดยมีข้อมูลว่า ค่าใช้จ่ายในคดีหนึ่งประมาณ 76,000 บาทต่อคดี

สำหรับการดำเนินการตามข้อสังเกตกฤษฎีกาคณะที่ 10 มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า หากรัฐบาลมีนโยบายที่จะเลิกพืชกระท่อมออกจากยาสเพติดประเภทที่ 5 ควรมีกฎหมายควบคุมเป็นการเฉพาะด้วย ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามข้อสังเกต กระทรวงยุติธรรมจึงได้ยกร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม

"เพื่อกำหนดมาตรควบคุม ไมให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงพืชกระท่อม และป้องกันไม่ให้นำพืชกระท่อมไปใช้ในทางที่ผิด และมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้ว 3 ครั้ง โดยกว่า 90% เห็นด้วย และล่าสุด ครม.มีมติอนุมัติในหลักการพืชกระท่อม ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ โดยเมื่อมีการแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฉบับนี้แล้ว เราจะมีกฎหมายอีกฉบับที่ออกมาควบคุมพืชกระท่อมแทน" นายสมศักดิ์ กล่าว

logoline