svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

เตือนเกษตรกรระวัง "โรคบรูเซลโลสิส" อาจป่วยเรื้อรังนานนับปี

23 พฤศจิกายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรเลี้ยงสัตว์หรือทำงานในฟาร์ม ระมัดระวังการสัมผัสเลือด ปัสสาวะ สารคัดหลั่งของสัตว์ อาจป่วยด้วยโรคบรูเซลโลสิส ที่อาจทำให้ป่วยเรื้อรังนานนับปี แนะวิธีป้องกันโดยสวมถุงมือ-ถุงเท้าทุกครั้ง

23 พฤศจิกายน 2563 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคบรูเซลโลสิส หรือโรคแท้งติดต่อในสัตว์ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 10 พ.ย. 2563 พบผู้ป่วยแล้ว 9 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ เพชรบูรณ์ ลำพูน นครราชสีมา กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 55-64 ปี รองลงมาคือ 35-44 ปี และมากกว่า 65 ปี พบมากที่สุดในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จากข้อมูลการตรวจสอบข่าวการระบาด กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 18 พ.ย. 2563 พบเหตุการณ์ที่เข้าเกณฑ์การตรวจสอบทั้งหมด 6 เหตุการณ์ ใน 4 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ (3 เหตุการณ์) นครสวรรค์ สิงห์บุรี และนนทบุรี ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ หรือทำงานในฟาร์ม แม้ว่าจะมีรายงานผู้ป่วยจำนวนไม่มาก แต่จากข้อมูลการเฝ้าระวังเหตุการณ์ พบว่าเฉพาะในเดือนพฤศจิกายนถึงปัจจุบัน มีรายงานผู้ป่วยแล้ว 2 เหตุการณ์ จากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีประวัติทำคลอดแพะ คลุกคลีกับแพะ ทำแผลให้แพะโดยไม่สวมถุงมือป้องกัน และมีผู้ป่วยบางราย แม้ไม่ทำงานในฟาร์มแต่พบว่ามีประวัติดื่มนมแพะดิบ
คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคบรูเซลโลสิสเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีรายงานผู้ป่วยจำนวนไม่มาก แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ หรือผู้ที่ทำงานในฟาร์ม อาจมีการสัมผัสโดยตรงกับเชื้อ เนื่องจากต้องทำงานคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยง ทำให้อาจติดเชื้อดังกล่าวได้

เตือนเกษตรกรระวัง "โรคบรูเซลโลสิส" อาจป่วยเรื้อรังนานนับปี



เตือนเกษตรกรระวัง "โรคบรูเซลโลสิส" อาจป่วยเรื้อรังนานนับปี



รู้จัก "โรคบรูเซลโลสิส"

  • โรคบรูเซลโลสิสหรือโรคแท้งติดต่อในสัตว์เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน เกิดจากเชื้อBrucella spp.มีสัตว์จำพวก โค กระบือ สุกร แพะ แกะ สุนัข เป็นแหล่งรังโรค

  • ติดต่อได้อย่างไร
  • ติดต่อจากการสัมผัสโดยตรงกับเนื้อเยื่อ เลือด ปัสสาวะ สารคัดหลั่งจากช่องคลอดของสัตว์ เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังที่มีแผลหรือรอยขีดข่วน หรือการดื่มน้ำนมดิบหรือใช้ผลิตภัณฑ์นมดิบจากสัตว์ที่มีเชื้อ

  • อาการป่วย
  • อาการที่พบ คือ มีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เหงื่อออกมากในตอนกลางคืน หนาวสั่น ปวดตามข้อ มึน ซึม น้ำหนักลด และปวดตามร่างกาย อาการป่วยอาจเป็นๆหายๆ นานหลายวัน หลายเดือน บางครั้งอาจเป็นปีหรือนานกว่า

  • วิธีป้องกันสำหรับผู้ที่ทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์หากจำเป็นต้องสัมผัสแหล่งน้ำหรือดินชื้นแฉะ ซึ่งอาจปนเปื้อน เลือด ปัสสาวะ สารคัดหลั่งจากช่องคลอดของสัตว์ ควรป้องกันตนเองดังนี้
  • สวมรองเท้าหุ้มส้นหรือบูทยาว
  • สวมถุงมือ
  • เมื่อนำสัตว์ตัวใหม่เข้ามา ให้แยกก่อนให้อยู่ร่วมกับสัตว์ฝูงเดิม
  • หากพบสัตว์ป่วยตายหรือแท้งลูก ควรแจ้งสำนักงานปศุสัตว์อำเภอเพื่อตรวจหาเชื้อ การติดเชื้อบรูเซลลาในฟาร์ม รวมถึงตรวจสอบฟาร์มที่อยู่บริเวณใกล้เคียงว่ามีการระบาดของโรคบรูเซลโลสิสหรือไม่
  • หากตรวจพบสัตว์ติดเชื้อบรูเซลลา ควรทำลายสัตว์และห้ามจำหน่ายสัตว์ดังกล่าวต่อไปยังบุคคลอื่น

  • เตือนเกษตรกรระวัง "โรคบรูเซลโลสิส" อาจป่วยเรื้อรังนานนับปี

    วิธีป้องกันสำหรับประชาชนทั่วไป 

  • หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ดิบ นมดิบ 
  • ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้วอย่างเหมาะสม 
  • หากเลี้ยงสัตว์ เช่น แพะ วัว ควรจัดพื้นที่เลี้ยงสัตว์ให้เป็นสัดส่วนมีรั้วรอบขอบชิด แยกห่างจากพื้นที่พักอาศัย 

  • เมื่อมีอาการป่วยข้างต้นควรรีบปรึกษาแพทย์ และแจ้งประวัติเสี่ยงแก่แพทย์ผู้รักษา เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

    logoline