svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

แนะพ่อแม่คุมเข้มน้ำตาล ลดพฤติกรรมเด็กติดหวาน

22 พฤศจิกายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ พ่อแม่ช่วยควบคุมปริมาณน้ำตาล และปริมาณขนมหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม ในช่วงปิดเทอม หวั่นหากเด็กกินหวานมากเกินความจำเป็นต่อร่างกายเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามมาในระยะยาว

23 พฤศจิกายน 2563นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ปัญหาสุขภาพทั้งภาวะโภชนาการเกิน โรคอ้วนและเบาหวานในกลุ่มเด็กนั้น สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคอาหาร ที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน ชาเย็น เบเกอรีและขนมหวานต่างๆ เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลสูงนี้ เริ่มพบมากตั้งแต่อยู่ในช่วงวัยเรียน

แนะพ่อแม่คุมเข้มน้ำตาล ลดพฤติกรรมเด็กติดหวาน



ข้อมูลจากการสำรวจความรอบรู้ด้านสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ของเด็กวัยเรียน โดยกรมอนามัยปี พ.ศ.2562 พบว่า เด็กวัยเรียน ดื่มน้ำอัดลม 1-3 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 55.4 ดื่มน้ำผลไม้ น้ำหวาน นมปรุงแต่งรส 1-3 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 50.9
ดังนั้น การปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพที่ดีตั้งแต่เด็กเลี่ยงกินหวาน เพื่อป้องกันการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่จึงเป็นกระบวนการสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากอาหารจำพวกน้ำตาลเมื่อกินเข้าไปจะแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานให้ร่างกายนำไปใช้ แต่หากได้รับมากเกินไปจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมในร่างกาย เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด และอ้วน ตามมาในระยะยาว

"ทั้งนี้ ในช่วงปิดเทอมซึ่งเด็กจะมีอิสระในการเลือกกินอาหารมากขึ้น พ่อแม่ผู้ปกครอง ควรดูแลลูกหลานให้กินขนมหวาน น้ำหวาน หรือน้ำอัดลมให้ลดน้อยลง เพื่อสร้างความเคยชินในการรับรสและไม่ติดรสหวาน พยายามควบคุมการกินน้ำตาลแต่ละวันให้ไม่เกิน 4 ช้อนชา ควรให้เด็กกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นกินผักและผลไม้ เลี่ยงขนมหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม และผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง เช่น ขนุน ทุเรียน ลำไย ลองกอง เป็นต้น

หากเด็กอยากดื่มน้ำหวานให้เลือกดื่มน้ำผลไม้สดไม่เติมน้ำตาลแทน เลือกกินผลไม้รสไม่หวานจัดเป็นอาหารว่างแทนขนมหวาน และผู้ปกครองควรชวนลูกหลานออกกำลังกายด้วยกันวันละ 60 นาทีทุกวัน เพื่อส่งเสริม ให้เด็กไทยเท่หุ่นดี สูงดีสมส่วน สุขภาพแข็งแรง" รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

แนะพ่อแม่คุมเข้มน้ำตาล ลดพฤติกรรมเด็กติดหวาน

logoline