svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

รีวิวกฎหมาย"รัฐบาล"เตรียมงัดมาใช้คุมเข้มม็อบ

21 พฤศจิกายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สำหรับการประกาศบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มผู้ชุมนุม ที่นายกฯย้ำว่าจะใช้ทุกฉบับทุกมาตรานั้น "เนชั่นทีวี" รวบรวมมาให้ดูชัดๆ ว่ามีฉบับไหน มาตราใดบ้างที่จะถูกนำมาใช้อย่างแน่นอน

เริ่มจากประมวลกฎหมายอาญา มีกลุ่มความผิดที่อยู่ในหมวด "ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์"

กลุ่มความผิดนี้ เริ่มตั้งแต่มาตรา 107 ถึงมาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่ตราขึ้นเพื่อคุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

มาตราที่ถูกนำมาใช้แล้ว คือ มาตรา 110 ว่าด้วยการประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 16 -20 ปี จากเหตุการณ์ปิดล้อมขบวนเสด็จฯ เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา และภายหลังมีการจับกุม นายเอกชัย หงส์กังวาน และ นายบุญเกื้อหนุน เป้าทอง นักกิจกรรมทางการเมือง แต่ต่อมาได้รับประกันตัว

ส่วนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่กำลังถูกพูดถึงกันอยู่นี้ เป็นความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงอาการอาฆาตมาดร้าย ซึ่งตัวกฎหมายบัญญัติว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 -15 ปี"

ในประมวลกฎหมายอาญา ยังมีอีก "1 กลุ่มความผิด" ที่น่าจะหยิบมาใช้แน่ๆ คือ "ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร" โดยความผิดในหมวดนี้ มีอยู่ด้วยกัน 6 มาตรา คือ มาตรา 113 ถึงมาตรา 118

เริ่มจาก มาตรา 113 เป็นความผิดฐานกบฏ โทษสูงสุดถึงประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต แต่ที่ผ่านมา การชุมนุมหลายๆ กลุ่มในอดีต ก็มีการแจ้งข้อหานี้กับบรรดาแกนนำ

นอกจากนั้นยังมี มาตรา 115 บัญญัติว่า "ผู้ใดยุยงทหารหรือตำรวจให้หนีราชการ ให้ละเลยไม่กระทำการตามหน้าที่ หรือให้ก่อการกำเริบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี" โดยต้องไปย้อนดูว่า การโพสต์เรียกร้องให้ตำรวจ ทหาร ละทิ้งหน้าที่มาร่วมม็อบ แบบนี้จะผิดหรือไม่ มาตรา 116 เป็นมาตรายอดฮิต ตำรวจชอบแจ้งข้อหามาตรานี้กับผู้ชุมนุม เรียกง่ายๆว่า ความผิดฐาน "ยุยงปลุกปั่น"

ส่วนมาตรา 117 มาตรานี้ก็มีแกนนำหลายคนเคยพูดเหมือนกัน คือ ผู้ใดยุยงหรือจัดให้เกิดการร่วมกันหยุดงาน การร่วมกันปิดงานงดจ้าง หรือการร่วมกันไม่ยอมค้าขาย หรือติดต่อทางธุรกิจกับบุคคลใดๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน เพื่อบังคับรัฐบาลหรือเพื่อข่มขู่ประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จะเหฺ็นได้ว่าการยุยงให้หยุดงาน ปิดงาน ไม่ค้าขาย หรือแบนสปอนเซอร์ ก็น่าจะเข้าข่าย แต่ต้องไม่ลืมว่า ต้องมีเงื่อนไข หรือในทางกฎหมายเรียก "เจตนาพิเศษ" คือ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน หรือบังคับรัฐบาล หรือข่มขู่ประชาชนด้วย ซึ่งการกระทำไหนที่เข้าเงื่อนไขแบบนี้ ก็เป็นหน้าที่ศาลที่จะต้องพิจารณา

สุดท้าย มาตรา 118 ว่าด้วยเรื่อง "หมิ่นธง" ผู้ใดกระทำการใด ๆ ต่อธงหรือเครื่องหมายอื่นใดอันมีความหมายถึงรัฐ เพื่อเหยียดหยามประเทศชาติ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ฉะนั้น เวลาไปชุมนุมแล้วมีการนำธงประเทศอื่นมาประกอบการชุมนุม หรือธงของกองกำลังชนกลุ่มน้อยต่างๆ ก็ต้องระมัดระวังเหมือนกัน มิฉะนั้นอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ ยังมีข้อหาที่เคยแจ้งกับบรรดาแกนนำผู้ชุมนุมไปแล้ว เป็นข้อหาเบาๆ โทษไม่เยอะ เรียกว่า "ลหุโทษ" เช่น

- ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385

- ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่นหรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก โทษปรับ 500 บาท

- ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493

- พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535

- และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ กรณีจัดชุมนุมโดยไม่แจ้งให้เจ้าพนักงานทราบ หรือมีการชุมนุมที่ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธ

logoline