svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

รู้จัก ม.112 ทำแบบไหนเข้าข่ายความผิด

20 พฤศจิกายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จริงๆ แล้วเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ มาตราในกลุ่มเดียวกัน จัดอยู่ในหมวด "ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์"

กลุ่มความผิดนี้ เริ่มตั้งแต่มาตรา 107 ถึงมาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่ตราขึ้นเพื่อคุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

สำหรับระวางโทษของความผิดในกลุ่มมาตรานี้ สูง-ต่ำ ลดหลั่นกันไปตามพฤติการณ์ของผู้กระทำผิด มีตั้งแต่ปลงพระชนม์ ประทุษร้ายทั้งต่อร่างกายและเสรีภาพ การตระเตรียมในการกระทำความผิด และการสนับสนุนผู้กระทำผิด ทั้งหมดนี้ล้วนมีโทษตามกฎหมาย ตั้งแต่ประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต และจำคุก

ความผิดร้ายแรงที่สุดที่มีการแจ้งข้อหากันในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมืองหนนี้ คือ มาตรา 110 ว่าด้วยการประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 16-20 ปี

จากเหตุการณ์ปิดล้อมขบวนเสด็จฯ เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา และภายหลังมีการจับกุม นายเอกชัย หงส์กังวาน และ นายบุญเกื้อหนุน เป้าทอง นักกิจกรรมทางการเมือง แต่ต่อมาได้รับประกันตัว

ส่วนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่กำลังถูกพูดถึงกันอยู่นี้ เป็นความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงอาการอาฆาตมาดร้าย โดยตัวกฎหมายบัญญัติว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี"

สาเหตุที่มาตรานี้ถูกพูดถึงกันมากในหมู่ผู้ชุมนุม เพราะหากนำมาบังคับใช้อย่างเคร่งคัด จะมีแกนนำผู้ชุมนุมเข้าข่ายกระทำผิดจำนวนมาก เพราะจากการชุมนุมตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา มีทั้งคำพูดและการกระทำที่เข้าข่าย "ดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้าย" ทั้งต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายา หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จำนวนมาก

ที่ผ่านมามีความพยายามเรียกร้องจากบางฝ่ายให้ยกเลิกมาตรา 112 โดยอ้างว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมือง และเนื้อหาของกฎหมายไม่ชัดเจน ทำให้เกิดการตีความได้กว้างขวางมากเกินไป ขัดต่อหลักการบังคับโทษทางอาญา ที่ต้องพิสูจน์เจตนาได้อย่างชัดเจน

แต่อีกด้านหนึ่งก็มีคำชี้แจงจากฝ่ายผู้บังคับใช้กฎหมายและนักวิชาการว่า จริงงๆ แล้วมาตรา 112 ถูกใช้ไม่มากนัก โดยเฉพาะช่วงก่อนเกิดความขัดแย้งทางการเมืองในรอบสิบกว่าปีมานี้ มีคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาเพียงไม่กี่คดี แต่ปริมาณคดีมาเยอะในช่วงหลัง เพราะมีการกระทำที่เข้าข่ายความผิด และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมก็พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ก่อนพิพากษาลงโทษ

หากย้อนดูคำพิพากษาศาลฎีกาในอดีตที่เคยวางบรรทัดฐานเอาไว้ จะพบว่าการกระทำที่เข้าข่ายความผิดมาตรา 112 ก็เช่น- "ใส่ความ" โดยประการที่น่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง- การแสดงอาการอาฆาตมาดร้ายรูปแบบต่างๆ- การเผยแพร่ หรือส่งต่อข้อความ "ใส่ความ" หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย- การไม่ลุกยืนตรง และตะโกนถ้อยคำไม่เหมาะสมระหว่างเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี (ข้อนี้เป็นคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อปี 2521)

logoline