svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เส้นทางสร้างกติกาประเทศใหม่ หลัง 2 ร่างรธน.ผ่านวาระ1

19 พฤศจิกายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เส้นทางของ 2 ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่รัฐสภารับหลักการด้วยเสียงท่วมท้นพอสมควร คือ ร่างของรัฐบาลกับของฝ่ายค้านนั้น หลังจากนี้จะมีการพิจารณาวาระ 2 คือ ขั้นแปรญัตติ โดยมีการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 45 คน แบ่งสัดส่วนเป็น ส.ว. 15 คน และ ส.ส. 30 คน ไม่มีสัดส่วนจากคนนอกหรือภาคประชาชน เพราะไม่ใช่รูปแบบการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เหมือนการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับอื่น

การพิจารณาในวาระ 2 ในชั้นกรรมาธิการฯ จะมีการพิจารณาเป็นรายมาตรา โดยนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญร่างใดร่างหนึ่งใน 2 ร่างนี้เป็น "ร่างหลัก" คาดว่าจะเป็นร่างของรัฐบาล จากนั้นจะพิจารณาเนื้อหาไปทีละมาตรา เพื่อรวมทั้ง 2 ร่างเป็นร่างเดียว

แต่ละมาตราเมื่อมีการปรับเนื้อหาแล้ว จะมีการโหวตเป็นรายมาตราในกรรมาธิการ ฝ่ายที่ชนะ ได้เสียงมากกว่าในแต่ละมาตรา แต่ละประเด็น เรียกว่า "กรรมาธิการเสียงข้างมาก" ส่วนฝ่ายที่โหวตแพ้ เรียกว่า "กรรมาธิการเสียงข้างน้อย" ซึ่งฝ่ายเสียงข้างน้อยสามารถสงวนคำแปรญัตติแต่ละมาตราเอาไว้ เพื่อนำมาอภิปรายเหตุผลหักล้างหรือโน้มน้าวสมาชิกรัฐสภาอีกรอบหนึ่งเพื่อให้เห็นด้วยกับตน ในช่วงที่ส่งร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯแล้ว เข้าไปโหวตในที่ประชุมใหญ่ของรัฐสภา

โดยการโหวตในวาระ 2 ในที่ประชุมรัฐสภา จะพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ใช้เสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ ไม่ต้องมีเสียง ส.ว. 1 ใน 3 เหมือนวาระที่ 1

เมื่อพิจารณาวาระ 2 เสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้ 15 วัน เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 3 โดยใช้วิธี "ขานชื่อ" เหมือนวาระที่ 1 โดยร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่จะผ่านวาระ 3 ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา คือ 367 เสียงขึ้นไป โดยในจำนวนนี้ต้องมี ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 82 เสียง (กรณีที่ ส.ว.ยังคงมี 245 คน จากจำนวนเต็ม 250 คน)

และต้องมีเสียง ส.ส.จากพรรคการเมืองที่สมาชิกไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยหมายถึงพรรคฝ่ายค้าน หรือพรรคที่ไม่ได้มีตำแหน่งในรัฐบาลทั้งหมด เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองในกลุ่มนี้รวมกันสาเหตุที่มีเงื่อนไขนี้ ก็เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นฉันทามติอย่างแท้จริง โดยพรรคการขนาดเล็ก ขนาดจิ๋ว และพรรรคฝ่ายค้านก็ต้องเห็นชอบด้วยขั้นตอนทั้งหมดนี้ ฝ่ายค้านเรียกร้องให้พิจารณาให้จบเรียบร้อยภายในสิ้นปี 2563 แต่รัฐบาลบอกล่าสุดแล้วว่าไม่ทันโดยหากร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3 โดยได้เสียงเห็นชอบตามที่กำหนด ก็จะต้องนำร่างไปทำประชามติ แต่ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ จึงต้องเร่งจัดทำกฎหมายให้มีผลบังคับใช้

ล่าสุดรัฐบาลได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ประชามติ เข้าสู่ระเบียบวาระการพิจารณาของสภาเรียบร้อยแล้ว และมีข่าวว่าฝ่ายค้านจะเสนอร่างประกบ คาดว่าจะมีการลงประชามติได้ช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า หรืออย่างช้าไม่เกินกลางปี 2564 หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ก็จะเดินหน้าสู่การตั้ง ส.ส.ร. และยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไปในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า ใช้เวลาเฉพาะการยกร่าง 120-240 วัน ขึ้นอยู่กับว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านรัฐสภา จะใช้กรอบเวลาไหน

สมมติว่าใช้เวลาสูงสุด 8 เดือน และต้องทำประชามติอีก 1 ครั้ง เมื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จสิ้น ก็จะได้เวลาอีกราวๆ 3-4 เดือน รวมเวลาทั้งหมดประมาณ 1 ปี ไปสิ้นสุดช่วงกลางปี 2565 หากทุกอย่างไม่มีอะไรพลิกผัน นายกฯก็ต้องยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขณะที่อายุของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หากอยู่ครบวาระ จะอยู่ถึงกลางปี 2566 ก็เท่ากับวาระหายไปประมาณ 1 ปีนั่นเอง

logoline