svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

"จีน" แซง "สหรัฐฯ" ดัน RCEP แผ่อิทธิพล "อาเซียน"

18 พฤศจิกายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หลังเจรจามาเกือบ 50 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 8 ปี ในที่สุด "ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP" ก็ประสบความสำเร็จ โดยผู้นำของ 15 ประเทศได้ร่วมลงนามเป็นที่เรียบร้อยในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

นับจากนี้ RCEP จะกลายเป็น "เขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก" ทั้งในแง่ของมูลค่าทางเศรษฐกิจที่คิดเป็นเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีโลก และในแง่ประชากรรวมถึง 2,200 ล้านคน คิดเป็นเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกเช่นกัน ที่สำคัญข้อตกลง RCEP ยังเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เมื่อ "3 ยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียบูรพา" ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งต่างก็หยิ่งทะนงในศักดิ์ศรีของตัวเอง ยอมมาอยู่ภายใต้ข้อตกลงการค้าเดียวกันเป็นครั้งแรก

"จีน" แซง "สหรัฐฯ" ดัน RCEP แผ่อิทธิพล "อาเซียน"


อย่างไรก็ตาม ข้อตกลง RCEP จะยังไม่มีผลบังคับใช้ในทันที โดยหลังจากนี้จะต้องรอให้รัฐสภาของประเทศสมาชิกให้สัตยาบันก่อน แบ่งเป็นสมาชิกอาเซียนอย่างน้อย 6 ประเทศ และประเทศนอกอาเซียนอย่างน้อย 3 ประเทศ ซึ่งขั้นตอนนี้อาจใช้เวลานานนับปี นอกจากนี้แม้ข้อตกลงมีผลบังคับใช้แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากำแพงภาษีนำเข้าของทั้ง 15 ประเทศจะหายไปทันที เพราะเอกสารข้อตกลงที่หนากว่า 500 หน้ายังคงคุ้มครองอุตสาหกรรมสำคัญของหลายประเทศอยู่ โดยจะค่อยๆ ให้กำแพงภาษีของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ลดลงไปตามลำดับในช่วง 10-20 ปีข้างหน้า

นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงของจีนเรียกความสำเร็จครั้งนี้ว่า เป็น "ชัยชนะของระบบพหุภาคีนิยมและการค้าเสรี" แต่ในความเป็นจริง นี่ถือเป็น "ชัยชนะครั้งสำคัญของประเทศจีน" ที่สามารถแผ่อิทธิพลทางเศรษฐกิจได้อย่างเด็ดขาด เพราะจีนคือผู้ผลักดันข้อตกลง RCEP มาตั้งแต่ต้น จีนเป็นตลาดนำเข้าและส่งออกอันดับ 1 ของอาเซียน และจีนคือประเทศที่ได้ประโยชน์จากโลกาภิวัฒน์มากที่สุด สอดคล้องกับท่าทีของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ได้ประกาศเอาไว้เมื่อต้นเดือนนี้ว่า เป้าหมายของประเทศจีนก็คือ "การเปลี่ยนตลาดในประเทศให้กลายเป็นตลาดของทั้งโลก" และตอกย้ำว่า การเปิดประเทศเพื่อทำการค้ายังคงเป็นแนวโน้มที่ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งคำกล่าวนี้ก็คงจะเป็นการเหน็บเบาๆ ไปยังนโยบายปกป้องการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์นั่นเอง

"จีน" แซง "สหรัฐฯ" ดัน RCEP แผ่อิทธิพล "อาเซียน"


ในเมื่อข้อตกลง RCEP ถือเป็นชัยชนะของจีน ในทางกลับกันนี่จึงถือเป็น "การเพลี่ยงพล้ำ" ครั้งสำคัญของสหรัฐฯ ด้วย เพราะก่อนหน้านี้ข้อตกลง RCEP กับข้อตกลง TPP ที่ผลักดันโดยประธานาธิบดีบารัก โอบามาของสหรัฐฯ ได้มีการเจรจาตีคู่กันมาโดยตลอด ซึ่ง TPP มีโอกาสประสบความสำเร็จก่อนด้วยซ้ำ แต่แล้วพอมาถึงยุคของทรัมป์ พอรับตำแหน่งวันแรก ทรัมป์ก็ถอนสหรัฐฯ ออกจาก TPP ทันทีด้วยเหตุผลว่าสหรัฐฯ เสียเปรียบ จนอีก 11 ประเทศที่เหลือต้องไปจับกลุ่มรวมกันใหม่ในนาม CPTPP
CPTPP ที่ไม่มีสหรัฐฯ ถูก "ลดความสำคัญ" ลงไปโดยปริยาย และยิ่งเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับ RCEP โดย CPTPP มีขนาดจีดีพีรวมกันเล็กกว่า RCEP กว่า 2 เท่า และมีจำนวนประชากรรวมกันน้อยกว่ากลุ่มประเทศ RCEP เกือบ 5 เท่า แต่ในขณะเดียวกัน CPTPP ก็ยัง "แง้มประตู" รอต้อนรับการกลับมาของสหรัฐฯ เสมอ

"จีน" แซง "สหรัฐฯ" ดัน RCEP แผ่อิทธิพล "อาเซียน"


ส่วน RCEP ใช่ว่ากระบวนการที่ผ่านมาจะราบรื่นตลอดรอดฝั่ง เพราะเมื่อปีที่แล้วอินเดียได้ถอนตัวจากการเจรจาไป ด้วยกลัวว่าสินค้าจากจีนจะไหลทะลักเข้าประเทศ ทำให้ RCEP มีประชากรหายไปกว่า 1,300 ล้านคน
นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า RCEP มีทั้ง 10 ประเทศอาเซียนเป็นสมาชิก ในขณะที่ CPTPP มีแค่สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และบรูไนเท่านั้น ซึ่งปัจจัยสำคัญก็คงจะมาจากการที่ CPTPP ครอบคลุมประเด็นสิทธิแรงงาน มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม และทรัพย์สินทางปัญญาด้วย

"จีน" แซง "สหรัฐฯ" ดัน RCEP แผ่อิทธิพล "อาเซียน"


หลังจากนี้เราต้องจับตาดูว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ของโจ ไบเดน จะ "แก้เกม" จีนอย่างไร และจะรีบพาสหรัฐฯ กลับมาสู่ข้อตกลง TPP หรือไม่ โดยเบื้องต้นไบเดนได้ประกาศแล้วว่า สหรัฐฯ ต้องเร่งจับมือกับ "พันธมิตรประชาธิปไตย" เพื่อกำหนดกฎกติกาการค้า แทนที่จะปล่อยให้จีนกับพวกชี้นิ้วสั่งฝ่ายเดียว ซึ่งการเน้นย้ำคำว่า "ประชาธิปไตย" ก็แสดงว่าไบเดนได้เหมารวมเอาเรื่องการค้ากับระบอบการปกครองมาเป็นเรื่องเดียวกัน
ขณะที่ 15 ประเทศ RCEP ตั้งความหวังไว้ว่า ข้อตกลงนี้จะเป็นตัวเร่งสำคัญให้เศรษฐกิจฟื้นฟูจากวิกฤตโควิด-19 ได้โดยเร็ว ในทางตรงกันข้าม หอการค้าสหรัฐฯ ระบุแบบตรงไปตรงมาว่า ความก้าวหน้าของ RCEP กำลังทำให้สหรัฐฯ "ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง"

"จีน" แซง "สหรัฐฯ" ดัน RCEP แผ่อิทธิพล "อาเซียน"

logoline