svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ก้าวไกล" เต็มที่ ทั้งในและนอกสภาฯ เจรจาหยุดใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม

17 พฤศจิกายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ก้าวไกล เต็มที่ ทั้งในและนอกสภาฯ กระจายทุกจุกรุดเจรจา หยุดใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม ด้าน โรม อภิปรายเดือด เรียกร้องสามัญสำนึกวางคำสั่งที่ได้มาไว้ข้างหลัง แล้วจงฟังเสียงของประชาชนที่อยู่เบื้องหน้า

ที่อาคารรัฐสภา เกิดเหตุเผชิญหน้าปะทะระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจเล็กน้อยต่อกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อรอฟังการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นระยะ เช่น การฉีดรถน้ำผสมสารเคมี การใช้แก๊สน้ำตา รวมถึงการใช้แท่งคอนกรีดและรั้วลวดหนามกั้นขวางเพื่อไม่ใช้ผู้ชุมนุมมาถึงบริเวณรัฐสภาได้ ในเวลาต่อมา ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้ผลัดกันออกไปสังเกตการณ์และหาทางเจรจาเพื่อลดการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ในหลายจุด
ด้านในสภา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ได้ลุกขึ้นขอหารือกับประธานสภาว่า มีการฉีดน้ำสีผสมแก๊สน้ำตาใส่ประชาชน จึงขอให้ประธานสภาประสานไปยังเจ้าหน้าที่เพื่อหยุดใช้มาตรการรุนแรงกับประชาชน และเรียกผู้บัญชาการเหตุการณ์เข้ามาหารือ เพื่อหามาตรการที่เหมาะสม ไม่เกินสัดส่วนอย่างที่กำลังดำเนินการอยู่และขอให้เปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามาชุมนุมที่หน้ารัฐสภา เพราะการชุมนุมของราษฎรที่ผ่านมาล้วนเป็นไปอย่างสงบ ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องปิดกั้นการชุมนุมของประชาชนในครั้งนี้ 
จากนั้น นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ได้หารือต่อว่า ประธานสภาต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อลดอุณหภูมิของสถานการณ์ เพราะผู้แทนราษฎรไม่สามารถนั่งอยู่เฉยในห้องแอร์เย็นๆ ขณะที่ประชาชนข้างนอกโดนเอารถน้ำฉีดและถูกขู่ยิงกระสุนยางได้ 
สำหรับการอภิปรายของ ส.ส. พรรคก้าวไกล ต่อรายงานการการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการจำนวน 6 ฉบับ ซึ่งเป็นญัตติในวันนี้ ธีรัจชัย ระบุว่า ไม่ได้รู้สึกผิดหวังกับรายงานฉบับนี้ของคณะกรรมาธิการแต่อย่างใดที่ไม่มีคำตอบอะไรเกิดขึ้น เพราะตั้งคณะกรรมาธิการเป็นเพียงการประวิงเวลาเท่านั้น เหตุนี้ทำให้พรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคก้าวไกลไม่เข้าร่วมตั้งแต่แรก
"เป็นเพียงละครปาหี่เพื่อยื้อเวลาประวิงเวลา แต่ที่ตลกร้ายไปมากกว่านั้นคือ ผู้ที่เข้าชื่อตั้งคณะกรรมาธิการบางคนก็ได้เตรียมเอาไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ศาลตีความ เป็นความพยายามในการถ่วงเวลาอีก ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการถ่วงเวลา หลายเดือนก่อนสภาก็เคยตั้ง กมธ.ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้วซึ่งต้องไปศึกษาอีก 7-8 เดือน ซ้ำร้าย ส.ส.ฝั่งรัฐบาล ยังยอมรับเองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา การที่รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ออกแบบมาเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ย่อมเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบธรรม รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงจำเป็นต้องมีประเด็นการแก้ไขเป็นจำนวนมาก รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้ประเทศไทยไม่มีอนาคต ทำให้ประเทศถอยหลัง หาความเจริญไม่ได้ เพราะกรอบกติกาสูงสุดไม่เอื้อให้เกิดขึ้น" 
นายธีรัจชัย ยังได้เสนอว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องไม่ใช่แก้ในเชิงเทคนิคเท่านั้น ต้องแก้ที่หัวใจสำคัญ อย่าอ้างปัญหาเชิงเทคนิคและตีความแบบศรีธนญชัย เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นการทำลายอนาคตของประเทศและเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ต้องเติบโตต่อไปในสังคมนี้อีกนาน 
ด้าน นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขต 27  พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า แม้ไม่มีบัญญัติให้แก้ไขแต่ก็สามารถแก้ไขได้ทั้งฉบับ ยกตัวอย่างรัฐธรรมนูญตั้งเเต่ พ.ศ.2475 ฉบับลงวันที่ 10 ธ.ค. ซึ่งก่อนหน้าการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประเทศไทยมีการใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้มีบทบัญญัติใดที่ระบุไว้ให้มีการเเก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เเต่ท้ายที่สุดเเล้วก็มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยใช้กระบวนการนิติบัญญัติคือรัฐสภาในการลงมติออกเสียงในเเต่ละวาระ จนนำมาสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ในวันที่ 10 ธันวาคม เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่แก้ไขได้โดยกระบวนการของนิติบัญญัติเเม้ไม่มีบทบัญญัติในการเเก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ นี่คือในกรณีรัฐธรรมนูญฉบับเเรกของประเทศไทย 

"อีกกรณีคือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติเพิ่มเติมแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นครั้งเเรกในมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญปี 2475 เป็นที่มาของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2489 โดยมีคำปรารภของนายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการเเทนพระองค์ เเละนายควง อภัยวงศ์ ว่าเหตุการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนเเปลงไป ถึงเวลาที่ยกเลิกบทเฉพาะกาลปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเเละให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2489 ใช้เเทนรัฐธรรมนุญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับปี 2475 รวมถึงที่มีการเเก้ไขเพิ่มเติมทั้งหมด 3 ฉบับ เทียบเคียงให้เห็นชัดเจนขึ้น การเเก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 ที่มีการเเก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2539 ที่มาสู่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ในการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กรณีข้างต้นเเสดงให้เห็นว่าเป็นธรรมเนียมเเละประเพณีในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีมาโดยตลอดตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่สามารถดำเนินการได้" 
นายจิรวัฒน์ ยังระบุว่า การสร้างวาทกรรมว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญคือการล้มล้างสถาบัน ขอประกาศผ่านรัฐสภาเเห่งนี้ในฐานะรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ว่า ตนเห็นพระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์มาตั้งเเต่เป็นนักเรียนไม่ได้คิดว่าจะล้มล้างสถาบัน เเต่สิ่งที่ตนจะล้มคือรัฐธรรมนูญปี 2560 ตามกระบวนการนิติบัญญัติ ล้มเนื้อหาที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช. ) ที่มาจากรัฐฐาธิปัตย์ โดยการล้มในที่นี้คือต้องมีการเเก้ไขภายในกรอบตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 
สำหรับการอภิปรายญัตตินี้คนสุดท้ายของพรรคก้าวไกล คือ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งอภิปรายว่า การชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน ที่ออกกันมามากมายหลายจังหวัดและเป็นจำนวนมากคือเครื่องยืนยันว่า การบริหารงานของรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำลังเผชิญกับทางตัน ไม่ว่าจะเป็นความชอบธรรมของรัฐบาลที่เลือกมาด้วยกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทางตันในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล และทางตันในการหาทางออกให้กับประเทศ เพราะกลไกที่มีอยู่ล้วนมีไว้เพื่อรักษาอำนาจของพลเอกประยุทธ์และพวกพ้อง แม้จะขาดความชอบธรรมและสร้างปัญหาเอาไว้มากมาย โดย 3 ทางตันที่กล่าวมาข้างต้นไม่มีทีท่าจะยุติได้โดยง่าย การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมดที่มีอยู่ในขณะนี้ก็ตาม แต่อย่างน้อยที่สุดรัฐสภาก็จะสามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีที่สุด โดยไม่สร้างความเกลียดชังแม้จะเห็นแตกต่างกัน 
"รัฐสภาต้องพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับด้วย หลักการ 3 ข้อคือ หนึ่ง รัฐสภาต้องไม่เติมฟืนเข้ากองไฟโดยกล่าวหาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นการล้มล้างการปกครอง รวมทั้งต้องไม่ประวิงเวลาให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างล่าช้า และดึงองค์กรอย่างศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาล้มล้างกระกระดานล้มล้างเจตจำนง  สอง การตั้ง สสร. กว่าจะบรรลุเป้าหมายต้องใช้เวลาที่ยาวนาน จำเป็นต้องมีการแก้ไขรายมาตราเพื่อสอดให้คล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น อำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. สามร่างแก้ไขของประชาชนต้องถูกให้ความสำคัญมากที่สุด เพราะที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าการแก้ไขผ่านกลไกรัฐสภาไม่สำเร็จอย่างที่ประชาชนคาดหวัง พวกเขาจึงต้องมาส่งเสียงเพื่อหาทางออกให้กับประเทศหากทำตามหลักการข้างต้น ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในทันทีคือการเป็นพื้นที่พูดคุยกันอย่างมีสติและมีวุฒิภาวะบนข้อเท็จจริง" นายรังสิมันต์  ยังอภิปรายทิ้งท้ายว่า สิ่งที่พวกเรากำลังทำมีความสำคัญอย่างมาก เป็นความสำคัญที่จะส่งผลต่อประเทศชาติบ้านเมืองว่าจะเดินไปข้างหน้าได้หรือไม่ ขอเรียกร้องให้ใช้สามัญสำนึกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขอให้วางคำสั่งใดๆที่ได้สั่งมาเอาไว้ข้างหลัง และฟังเสียงของประชาชนที่อยู่เบื้องหน้า เพราะหนทางประเทศจะสว่างสดใสหรือมืดมน อยู่ที่การตัดสินใจในสภาในวันนี้

logoline