svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"iLaw" สรุปเนื้อหา "แก้รธน." ตามข้อเสนอของแต่ละฝ่าย ก่อนประชุมสภา 17 พ.ย. นี้

15 พฤศจิกายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"iLaw" โพสต์สรุปเนื้อหาของข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ญัตติ ที่จะต้องอภิปรายและลงมติแต่ละฝ่ายเสนออะไร ยกเลิกข้อไหน แก้ไขสิ่งใด สรุปสั้นๆแบบเข้าใจง่ายที่นี่

15 พฤศจิกายน 2563 เพจ "iLaw" โพสต์เฟซบุ๊กสรุปเนื้อหาของข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนจะประชุมรัฐสภานัดพิเศษ วันที่ 17 พ.ย. นี้ โดยมีข้อความระบุว่า...
วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 สภานัดหมายพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อเสนอ 7 ญัตติ ที่จะต้องอภิปรายและลงมติ แบ่งเป็น ข้อเสนอจากพรรคเพื่อไทย ข้อเสนอจากพรรคร่วมรัฐบาล ข้อเสนอจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน 4 ญัตติ และข้อเสนอที่ประชาชนเข้าชื่อกันเสนอ ซึ่งมีประเด็นที่คล้ายคลึงและแตกต่างกันไป โดยร่างที่ประชาชนเสนอมีเนื้อหาครอบคลุมกว้างที่สุด หลายประเด็นที่สุดชวนทำความเข้าใจเนื้อหาและเหตุผลของ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอสู่รัฐสภาโดยการเข้าชื่อของประชาชนกว่าแสนคน ด้วยชื่อย่อว่า "5 ยกเลิก 5 แก้ไข" เพื่อ
"รื้อ" ระบอบอำนาจของ คสช.
"สร้าง" หนทางกลับสู่ประชาธิปไตย
และเปิดทางให้เกิดการ "ร่าง" รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากการมีส่วนร่วมของประชาชน https://ilaw.or.th/node/5780
ยกเลิก 1 ช่องทางนายกฯ คนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
ยกเลิกมาตรา 272 ซึ่งยังเปิดทางให้สภาเสนอชื่อคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งให้มาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ในระยะเวลา 5 ปี ระหว่างที่ยังมีวุฒิสภาชุดพิเศษ ของ คสช. เป็นเสียงสำคัญในการลงมติ
ยกเลิก 2 แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่ คสช. เขียนขึ้น คิดแทนอนาคต กดทับรัฐบาลทุกชุด
ยกเลิกมาตรา 65 และ 275 ที่ให้ คสช. แต่งตั้งคนของตัวเองขึ้นมาเขียนแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ขีดชะตาอนาคตประเทศด้วยการกำหนดให้การจัดทำงบประมาณแผ่นดิน / นโยบายรัฐบาล / การทำงานของหน่วยงานราชการ ต้องเป็นไปตามแผนการนี้
ยกเลิก 3 แผนปฏิรูปประเทศ ที่ คสช. เขียนขึ้น ความยาวรวมกว่า 3,000 หน้า
ยกเลิก หมวด 16 การปฏิรูปประเทศด้วยแผนที่เขียนโดยคนของ คสช. คลายล็อคที่กำหนดให้ ครม. ต้องคอยแจ้งความคืบหน้าการทำตามแผนปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาทุก 3 เดือน ตัดอำนาจ ส.ว. ในการติดตาม / เสนอแนะ / เร่งรัดแผนปฏิรูปประเทศ
ยกเลิก 4 ท้องถิ่นพิเศษ ที่เปิดช่องผู้บริหารไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง
ยกเลิกมาตรา 252 ที่กำหนดให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษสามารถได้มาโดย วิธีอื่น นอกจากการการเลือกตั้งหรือความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น เพื่อกลับไปสู่ระบบเลือกตั้งท้องถิ่นตามปกติ
ยกเลิก 5 นิรโทษกรรม คสช. ที่ช่วยคนทำรัฐประหาร ทำอะไรไว้ไม่มีทางผิด
ยกเลิกมาตรา 279 ที่ยังเป็นหลักประกันให้ คสช. ลอยตัว ไม่ต้องรับผิด กำหนดให้การกระทำทุกอย่างของคสช ไม่ขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ รับรองให้ประกาศและคำสั่งของ คสช. ยังมีผลใช้บังคับอยู่ตลอดไป

"iLaw" สรุปเนื้อหา "แก้รธน." ตามข้อเสนอของแต่ละฝ่าย ก่อนประชุมสภา 17 พ.ย. นี้


"iLaw" สรุปเนื้อหา "แก้รธน." ตามข้อเสนอของแต่ละฝ่าย ก่อนประชุมสภา 17 พ.ย. นี้

แก้ไข 1 แก้ระบบบัญชีว่าที่นายกฯ เขียนให้ชัด นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.
ตัดระบบบัญชีว่าที่นายกฯ ในมาตรา 88 ที่กำหนดให้พรรคการเมืองเสนอชื่อผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นนายกฯ ได้ และแก้ไขคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีว่า ต้องเป็นส.ส.เท่านั้น
แก้ไข 2 เปลี่ยน ส.ว. ชุดพิเศษคนของเขา เป็น ส.ว. จากการเลือกตั้งของประชาชน
ยกเลิก ส.ว. 250 คนที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. เพื่อสืบทอดอำนาจให้ คสช. และแก้ไขให้ ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง ลดจำนวนเหลือ 200 คนและใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง การคำนวณจำนวน ส.ว. ต่อหนึ่งจังหวัดยึดระบบเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ 2540
แก้ไข 3 เปลี่ยนที่มาองค์กรที่ไม่ทำงาน สร้างระบบสรรหาองค์กรอิสระแบบใหม่ ให้คนที่นั่งอยู่พ้นจากตำแหน่ง
ปรับกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระจากที่ให้คนในองค์กรอิสระหมุนเวียนเก้าอี้เลือกกันเอง เปลี่ยนมาเป็นกระบวนการสรรหาให้เหมาะสมตามภารกิจของแต่ละองค์กร ยกเลิกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยคนของ คสช. ทั้ง 7 ฉบับ ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่ง สรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกกต. ชุดใหม่ โดยวิธีตามรัฐธรรมนูญ 2540
แก้ไข 4 ปลดล็อกวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใช้เสียงครึ่งหนึ่งของสภา ไม่ต้องมีอำนาจพิเศษของ ส.ว.
ตัดอำนาจ ส.ว.ในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้การแก้ไขอาศัยเพียงเสียงของสองสภารวมกัน ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับฉบับก่อนๆ ไม่บังคับต้องทำประชามติเสมอไปในบางประเด็น
แก้ไข 5 ตั้ง สสร. ชุดใหม่จากการเลือกตั้งทั้งหมด เปิดทางสร้างการเมืองแบบใหม่ สังคมแบบใหม่
ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ สสร. 200 คน เป็นรายบุคคลหรือเป็นตัวแทนกลุ่มก็ได้ ประชาชน 1 คนเลือก สสร. ได้เพียง 1 คนหรือ 1 กลุ่ม โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง สสร. ต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ประชาชนมีส่วนร่วมให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน----------

"iLaw" สรุปเนื้อหา "แก้รธน." ตามข้อเสนอของแต่ละฝ่าย ก่อนประชุมสภา 17 พ.ย. นี้

ด้านพรรคร่วมฝ่ายค้านหลายพรรคการเมืองเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ "รายประเด็น" ไม่ได้เสนอให้ตั้ง สสร. เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดยเสนอทั้งหมด 4 ประเด็น แยกเป็นการเสนอร่าง 4 ฉบับ ดังนี้
1) เสนอยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี (ขณะที่ยังให้ ส.ว. ชุดพิเศษอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ 5 ปี)
2) เสนอยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการติดตามการปฏิรูปประเทศ และออกกฎหมายในหมวดการปฏิรูปประเทศ
3) ยกเลิกการนิรโทษกรรมให้กับ คสช. (เป็นข้อเสนอที่ตรงกับร่างฉบับที่ประชาชนเสนอ)
4) เปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง เป็นใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ใบที่หนึ่งเลือก ส.ส. เขต ใบที่สองเลือก ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ----------
ข้อเสนอ ฉบับพรรคเพื่อไทยกำหนดให้มี สสร. จำนวน 200 คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนโดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง แต่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเลือกผู้สมัครได้เพียงคนเดียว และผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดตามจำนวน สสร. ที่จังหวัดพึงมี ให้ถือว่าเป็นผู้ได้รับเลือกเป็น สสร.
ขั้นตอนการคำนวณ สสร. ในแต่ละจังหวัด มีดังนี้

  • (1) เอาจำนวนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง สสร. มาเฉลี่ยด้วยจำนวน สสร. ทั้งหมด (200 คน)
  • (2) นำค่าเฉลี่ยตามข้อ (1) มาหารจำนวนราษฎรในแต่ละจังหวัด เพื่อหาจำนวน สสร. ที่แต่ละจังหวัดพึงมี
  • (3) ถ้าจังหวัดใดมีจำนวนราษฎรน้อยกว่าหรือเท่ากับค่าเฉลี่ยตามข้อ (1) ให้จังหวัดนั้นมี สสร. 1 คน
  • (4) ถ้าจังหวัดใดมีจำนวนราษฎรมากกว่าค่าเฉลี่ยตามข้อ (1) ให้เพิ่ม สสร. 1 คน ในทุกๆ จำนวนราษฎรที่ครบตามค่าเฉลี่ย
  • (5) ในกรณีที่ยังได้ สสร. ไม่ครบ 200 คน ให้จังหวัดที่มีเศษเหลือจากการคำนวณมากที่สุด มีสสร. เพิ่ม 1 คน จนกว่าจะครบจำนวน
  • ตามร่างรัฐธรรมนูญที่เพื่อไทยเสนอ กำหนดให้สภาร่างรัฐธรรมนูญแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้น 1 คณะ ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวน 45 คน แบ่งเป็น การแต่งตั้งจากสมาชิก สสร. จำนวน 30 คน และให้มีตัวแทนจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชนจำนวน 5 คน ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสตรศาสตร์ 5 คน และ ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน และการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 5 คน รวมเป็น 45 คน ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญตามแนวทางที่ สสร. กำหนด เพื่อเสนอให้ สสร. พิจารณาต่อไป
    ทำความเข้าใจโมเดล สสร. ที่พรรคเพื่อไทยเสนอเพิ่มเติมได้ที่https://ilaw.or.th/node/5743----------
    ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคร่วมรัฐบาลกำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบไปด้วยสมาชิก 200 คน มีที่มา ดังนี้
  • 150 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
  • 20 คน มาจากการเลือกโดยรัฐสภา
  • 20 คน มาจากการเลือกโดยที่ประชุมอธิการบดี โดยแบ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชนหรือรัฐศาสตร์ 10 คน และผู้มีประสบการณ์การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ 10 คน
  • 10 คน มาจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา
  • โดยวิธีการได้มาซึ่ง สสร. จำนวน 150 คนแรกจะใช้วิธีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตโดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยให้ประชาชนมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือก สสร. ได้เพียงหนึ่งเสียง ระบบเลือกตั้งดังกล่าวจะคล้ายกับระบบเลือกตั้ง ส.ว. ปี 2534 หรือที่นิยมเรียกว่า"รวมเขตเบอร์เดียว"กล่าวคือ บางจังหวัดอาจมี สสร. มากกว่า 1 คน แต่ประชาชนลงคะแนนเลือกได้คนเดียว และผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดตามลำดับจำนวน สสร. ในแต่ละเขต จะได้รับเลือกเป็น สสร. ซึ่งเป็นระบบที่คล้ายกับข้อเสนอของพรรคฝ่ายค้าน
    ส่วน สสร. อีก 50 คน ถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน ได้แก่ จำนวน 20 คน มาจากการเลือกโดยรัฐสภา โดยมีข้อแม้ว่า การคัดเลือกต้องใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวน ส.ส.และ ส.ว. ซึ่งหมายความว่า จะได้ สสร. ที่เป็นคนจากระบอบ คสช. อย่างน้อยประมาณ 2 ใน 3 ของระบบนี้ ถัดมาอีก 20 คน ให้มาจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเป็นคนคัดเลือกจากผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน สาขารัฐศาสตร์ หรือมีประสบการด้านการบริหารราชแผ่นดิน เป็นต้น และสุดท้าย 10 คน ให้มาจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา แต่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้คัดเลือกนักเรียน นิสิต นักศึกษา
    ร่างรัฐธรรมนูญฉบับพรรคร่วมรัฐบาลมีกำหนดว่า ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สสร. ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกจังหวัดอย่างทั่วถึง และให้รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐจัดให้มีการเผยแพร่เนื้อหาและความคืบหน้าต่อสื่อมวลชน
    นอกจากนี้ ยังเขียนเพิ่มจากร่างรัฐธรรมนูญของฝ่ายอื่นๆ อีกด้วยว่า ให้แจ้งคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนฯ วุฒิสภา องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสดงความคิดเห็นเห็นหรือมีข้อเสนอแนะอื่นใดในการจัดทำรัฐธรรมนูญ
    ทำความเข้าใจโมเดล สสร. ที่รัฐบาลเสนอเพิ่มเติม ได้ที่https://ilaw.or.th/node/5745
    ดูเหตุผลที่ต้องค้านร่างฉบับรัฐบาล ได้ที่https://ilaw.or.th/node/5751

    "iLaw" สรุปเนื้อหา "แก้รธน." ตามข้อเสนอของแต่ละฝ่าย ก่อนประชุมสภา 17 พ.ย. นี้


    "iLaw" สรุปเนื้อหา "แก้รธน." ตามข้อเสนอของแต่ละฝ่าย ก่อนประชุมสภา 17 พ.ย. นี้



    logoline