svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ทวี" ชง 2 ข้อฝ่าวิกฤต เตือนสภามุ่งสนองรัฐบาล

15 พฤศจิกายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เลขาธิการพรรคประชาชาติ เสนอ 2 ข้อผ่าทางตันวิกฤตประเทศ แนะเปิดพื้นที่เสรีให้นักศึกษาและประชาชน พร้อมอย่าด่วนตีตกร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ เตือนสภามุ่งแต่สนองผู้มีอำนาจ เป็นแค่สภาผู้แทนรัฐบาล ไม่ใช่สภาผู้แทนราษฎร

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีการลงมติในญัตติเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 7 ฉบับว่า เรื่องใหญ่อยู่ที่การตัดสินใจของ ส.ว. ซึ่งทุกฝ่ายต้องอ่านใจ เนื่องจากประเด็นที่แก้ไขกระทบกับตัว ส.ว. แต่เมื่อย้อนดูอดีตของรัฐสภาชุดนี่จนถึงวันนี้ พอทำนายได้ว่า หากร่างทั้ง 7 ฉบับไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลต้องการ หรือไม่เป็นไปตามที่ผู้มีอำนาจต้องการ ก็คงไม่รับ และจะทำให้ความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นในอนาคตได้

"ทวี" ชง 2 ข้อฝ่าวิกฤต เตือนสภามุ่งสนองรัฐบาล

จากสถานการณ์นี้ ตนมีข้อเสนอแนะ 2 ประการ คือ 1. ประชาชนพลเมืองที่ตื่นรู้ต้องมีพื้นที่ให้นักศึกษาและประชาชนได้แสดงความคิดเห็น เพราะขาดความหวังจากรัฐบาล และรัฐสภา การออกมาเรียกร้องหรือการมาชุมนุมเป็นเรื่องเสรีภาพที่เป็นหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ตนตรวจสอบไปที่เกาหลีใต้ ชุมนุมกันทุกวัน เพราะเป็นเรื่องการใช้เสรีภาพ เสียงที่ประชาชนมาชุมนุมเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ เช่น เรียกร้องการกระจายอำนาจ ต้องการที่จะแก้ปัญหาคุณภาพชีวิต การศึกษา รัฐสวัสดิการ ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หรือปฏิรูปให้ประชาชนมีอนาคตที่ดีขึ้น หน้าที่ของการแก้ปัญหาความขัดแย้งเป็นรัฐบาลที่อาสาเข้ามาบริหารประเทศ ต้องลงไปพูดคุยกับผู้ชุมนุม และมีความจริงใจในการแก้ปัญหา


2. กรณีร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของไอลอว์ (iLaw) ความจริงคือนำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กลับมาใช้ สิ่งที่เสนอแก้ เช่น ยกเลิกการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นต้น สิ่งที่เสนอแก้ไม่มีอะไรที่ทำร้ายประเทศเลย เพียงขอเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนกลับมาใช้ ไม่อยากให้รัฐบาล และ ส.ว. ด่วนไม่รับร่าง จะเพิ่มความขัดแย้งจนทำให้ประเทศชาติบ้านเมืองไปต่อไม่ได้ จึงขอฝากให้รัฐสภาพิจารณา และท้ายที่สุดการทำรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยถือเป็นโอกาส ไม่ใช่วิกฤต



พ.ต.อ.ทวี กล่าวด้วยว่า ปัญหาของ "รัฐสภา" ต้องยอมรับว่าไม่ได้เป็นสถานที่ของผู้แทนราษฎร สาเหตุหนึ่งเพราะวาระการประชุมสภา เวลาบรรจุวาระ กฎหมายที่มาโดยประชาชนหรือราษฎรร่วมกันลงชื่อเมื่อสมัยประชุมครั้งที่แล้ว มีร่างกฎหมายของประชาชนอยู่ 2 คณะ คือ ร่าง พ.ร.บ.สหกรณ์ บรรจุวาระอยู่เกือบอันดับที่ร้อย และร่างกฎหมายของอาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ กับคณะที่ยกเลิกมรดกของ คสช. ไปอยู่ที่อันดับที่ร้อยเช่นกัน แต่กฎหมายของรัฐบาล เข้าเพียง 1 สัปดาห์ก็มีการบรรจุวาระด่วนแซงขึ้นมาทันที จึงทำให้สภาผู้แทนราษฎรอาจถูกมองว่าไม่ใช่สภาผู้แทนราษฎร แต่เป็นสภาผู้แทนของคณะรัฐมนตรี


"ถ้าไม่เอากฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเข้าพิจารณาสภาผู้แทนราษฎรจะหมดวาระโดยไม่บัญญัติกฏหมายของสมาชิกและของประชาชนเลย จะเสื่อมไปชื่อจะเหลือสภาผู้แทน ต้องตัดว่าราษฎรออก เพรากฎหมายของราษฎร กฎหมายของประชาชนไม่ได้เอาเข้า" เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวทิ้งท้าย

logoline