svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิดขั้นตอนโหวต 7 ญัตติแก้ รธน. ชี้ชะตาประเทศ

14 พฤศจิกายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ใกล้ถึงวันประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาและลงมติ 7 ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏว่าข่าวสารยังสับสนอลหม่านในหลายๆ เรื่อง "เนชั่นทีวี" รวบรวมประเด็นความสับสน และคำถามที่หลายฝ่ายยังหาคำตอบกันอยู่ มาอธิบายให้เข้าใจแบบกระจ่าง

ประเด็นคำถามคาใจสรุปได้ ดังนี้

1. ลำดับขั้นตอนและวิธีการในวันประชุมจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะกระบวนการลงมติ

2. จะมีการบรรจุญัตติที่สมาชิกรัฐสภากว่า 70 คน เสนอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหลังรับหลักการวาระแรกด้วยหรือไม่ โดยประเด็นที่เสนอให้วินิจฉัยคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับ สามารถทำได้หรือไม่ และต้องทำประชามติก่อนหรือเปล่า

3. ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในแบบ "ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ" จะมีการบรรจุวาระเพื่อพิจารณากันในวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้ด้วยหรือไม่

"เนชั่นทีวี" สอบถามประเด็นเหล่านี้กับ นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร นายชวน หลีกภัย ซึ่งจะทำหน้าที่ประธานรัฐสภาในการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาและลงมติใน 7 ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันที่ 17-18 พ.ย.นี้

โดยในประเด็นแรก นายสมบูรณ์ อธิบายว่า การประชุมจะเริ่มด้วยการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณา 6 ร่างแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอภิปรายกันนานพอสมควร

จากนั้นจะมีการพิจารณาวาระด่วน ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของภาคประชาชน ที่มีการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ "ฉบับไอลอว์" มาด้วย โดยเบื้องต้นได้มีการจัดเวลาให้ผู้แทนภาคประชาชนเป็นผู้เสนอญัตติ 3 คน ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที จากนั้นก็จะเปิดให้สมาชิกอภิปรายประเด็นต่างๆ

เมื่ออภิปรายกันพอสมควรแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการลงมติ โดยจะโหวตพร้อมกัน 7 ญัตติในคราวเดียว วิธีการโหวตเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (3) คือ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย หรือที่เรียกว่า "ขานชื่อลงคะแนน" ซึ่งเมื่อขานชื่อสมาชิกคนใด ก็ให้คนนั้นลุกขึ้นมาและแจ้งการลงคะแนนของตนเรียงตามญัตติ รวม 7 ญัตติ การเรียกชื่อจะเรียกตามตัวอักษร ไล่ไปโดยไม่แยก ส.ส. หรือ ส.ว. เพราะถือว่าทุกคนเป็นสมาชิกรัฐสภา

การลงคะแนนจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4-5 ชั่วโมง เพราะสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภาขณะนี้ คือ 731 คน คะแนนกึ่งหนึ่งอยู่ที่ 366 เสียง แต่การได้เสียง 366 เสียงขึ้นไป ยังไม่ได้หมายความว่าที่ประชุมรัฐสภารับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะตามกฎหมายต้องมี ส.ว.ลงคะแนนเห็นชอบมากกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ด้วย ซึ่งปัจจุบันมี ส.ว.ทั้งสิ้น 245 คน คะแนน 1 ใน 3 อยู่ที่ 82 เสียง

ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้การรวบรวมคะแนนเป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงมีนโยบายจากประธานฯชวน หลีกภัย ให้เจ้าหน้าที่แยกนับคะแนน ส.ว.เป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้ทราบผลทันทีเมื่อลงมติจบว่ามีผู้ให้ความเห็นชอบ หรือ "รับหลักการ" เกิน 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่หรือไม่

สำหรับกระบวนการลงมตินั้น หากต้องเริ่มลงมติในช่วงค่ำของวันที่ 17 พฤศจิกายน อาจมีการขอเลื่อนให้ไปลงมติในวันรุ่งขึ้นแทน เพื่อความปลอดภัยของสมาชิก โดยเฉพาะสมาชิกวุฒิสภา เนื่องจากคาดการณ์ว่าน่าจะมีผู้ชุมนุมมาสังเกตการณ์หรือปิดล้อมอาคารรัฐสภา ฉะนั้นการลงคะแนนของ ส.ว.จึงมีความอ่อนไหว และชี้เป็นชี้ตายอนาคตของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สุ่มเสี่ยงทำให้มวลชนไม่พอใจ หากผลการลงมติไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง

ส่วนประเด็นที่ 2 และประเด็นที่ 3 ที่ยังมีความสับสน คือ จะมีการบรรจุญัตติที่สมาชิกรัฐสภาเสนอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับ สามารถทำได้หรือไม่ รวมทั้งวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามตินั้น เลขานุการของประธานฯ ชวน หลีกภัย ยืนยันว่า การประชุมรัฐสภาวันที่ 17-18 พ.ย. มีการประชุมวิป 4 ฝ่าย (ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน ส.ว. และครม.) ได้ข้อสรุปตรงกันแล้วว่า จะไม่มีการบรรจุญัตติหรือวาระอื่นใดนอกเหนือจากญัตติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ความสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามตินั้น จะต้องเร่งดำเนินการให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ในหมวด 15 ที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านการพิจารณาของรัฐสภาทั้ง 3 วาระแล้ว จะต้องนำร่างไปทำประชามติสอบถามความเห็นจากพี่้น้องประชาชน หากผลประชามติออกมาว่าเห็นด้วย จึงจะนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ฉะนั้นการมีกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติมารองรับกระบวนการนี้ จึงมีความสำคัญมาก และมีข่าวว่าสภาอาจพิจารณา 3 วาระรวด เพื่อความรวดเร็ว

logoline