svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

2 ธันวาฯ ชี้ชะตาปลดล็อกการเมือง?

10 พฤศจิกายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทิศทางการเมืองและบ้านเมืองของเรากำลังจะเดินไปสู่จุดไหน เมื่อม็อบก็ไม่ยอมหยุดชุมนุมและไม่ลดเพดานข้อเรียกร้อง นายกฯก็ประกาศชัดว่าไม่ลาออก กรรมการสมานฉันท์ก็มีบางฝ่ายตั้งแง่ไม่ร่วม ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า เราจะอยู่กันแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน

ล่าสุดมีการพูดถึงกันมากเกี่ยวกับอาถรรพ์วันที่ 2 ธันวาฯ ว่าอาจเป็นวันชี้ชะตา ปลดล็อกการเมืองที่กำลังถึงทางตัน เพราะเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคำร้องที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะขาดคุณสมบัติ จากกรณีที่ยังพำนักอยู่ในบ้านพักทหาร ภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ทั้งๆ ที่เกษียณอายุราชการมานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2557

จริงๆ คดีนี้ออกได้ทั้ง 2 หน้า คือเป็นไปได้ทั้งนายกฯผิด และไม่ผิด แต่โอกาสที่ศาลจะวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี น่าจะมีเยอะกว่า เนื่องจากกฎระเบียบของการพักอยู่ในบ้านพักทหารนั้นมีลักษณะเฉพาะอย่างมาก เพราะทหารมีระบบการดูแลผู้บังคับบัญชา โดยเฉพาะผู้บังคับบัญชาระดับสูงที่เคยทำคุณงามความดีให้กับหน่วยหรือประเทศชาติ แม้จะเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ก็ยังมีระบบดูแลต่อเนื่อง

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีหลังเกษียณด้วย ก็ต้องถือว่าเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาในกองทัพ ที่กลับมาเป็นผู้บังคับบัญชาอีกรอบ ในมิติทางการเมือง ในฐานะผู้นำรัฐบาล

แต่คำวินิจฉัยวันที่ 2 ธันวาฯ ถูกมองว่ามีความสำคัญ เพราะมีการนำไปผูกโยงกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 2 ธันวาฯ ปี 2551 หรือเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ที่ศาลมีคำวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน ทำให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ นอกทำเนียบรัฐบาลในขณะนั้น ขาดคุณสมบัติ พ้นสภาพการเป็นนายกรัฐมนตรี ยุติม็อบรุงรังยืดเยื้อของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ลุกลามไปถึงขั้นบุกยึดสนามบิน

สำหรับสาเหตุที่เรียกว่านายกฯนอกทำเนียบฯ เพราะนายสมชาย เป็นนายกรัฐมนตรีได้ 75 วัน แต่ไม่มีโอกาสเข้าไปทำงานในทำเนียบรัฐบาลเลยแม้แต่วันเดียว เนื่องจากมีผู้ชุมนุมบุกยึดทำเนียบรัฐบาลอยู่ และสุดท้ายก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค จนต้องพ้นจากตำแหน่ง

เมื่อหันมาพิจารณาสถานการณ์ในปัจจุบัน มีการชุมนุมทางการเมืองเหมือนกัน แม้ยังไม่รุนแรงหนักข้อเหมือนเมื่อ 12 ปีก่อน แต่ก็ยังมองไม่เห็นทางออกที่จะทำให้ยุติการชุมนุมได้ เหตุนี้เองจึงทำให้คำวินิจฉัยของศาลในวันที่ 2 ธันวาฯปีนี้ ในอีกไม่ถึง 1 เดือนข้างหน้า หลายคนหวังว่าอาจจะช่วยคลี่คลายวิกฤติไปได้ หากศาลวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งก็จะตรงกับข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมพอดี

นี่คือความหวังของใครหลายๆ คน แต่ความหวังนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และต้องไม่ลืมว่า แม้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 12 ปีก่อน ทำให้ม็อบเลิกชุมนุมได้ก็จริง และทำให้เกิดรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตามมา แต่เหตุการณ์หลังจากนั้นกลับวิกฤติยิ่งกว่า เพราะเกิดการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง และเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง ที่สำคัญความขัดแย้งไม่ได้จบลง แต่ยังร้าวลึกหนักขึ้น

logoline