svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"นิกร"หนุนสมานฉันท์แต่อย่าตั้งความหวังแก้ปัญหาได้หมด

06 พฤศจิกายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"นิกร จำนง" หนุนตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ แต่ไม่ใช่กรรมาธิการ เพราะมีสัดส่วนฝ่ายการเมืองเข้าร่วมจนอาจล้มเหลวก่อน ย้ำคกก.ต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายถกหาทางออกแท้จริง โดยมีผู้ใหญ่เป็นตัวกลาง ลั่นม็อบเมินร่วมแต่ยังเดินหน้าได้ เผยประชุมร่วมรัฐสภา 17-18 พ.ย. ลงมติรับหลักการ 7 ร่างแก้รธน.ร่วมกับของไอลอว์

6 พฤศจิกายน 2563 นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการจัดทำรายงานในกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับก่อนรับหลักการ เปิดเผยถึงแนวทางการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์หาทออกของประเทศ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญรวมถึงการเสนอตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อหาทางออกทางการเมืองร่วมกัน 

ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าควรตั้งเป็นคณะกรรมการ แต่อย่าตั้งเป็นกมธ. เพราะจะมีสัดส่วนของฝ่ายการเมืองที่มาจาก 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว. ซึ่งจะล้มเหลวก่อนจะตั้งกมธ. อีกทั้ง ยังอยากให้คณะกรรมการชุดนี้ เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับทุกฝ่ายได้มาร่วมพูดคุยหาทางออกร่วมกัน แต่ไม่อยากให้ประชาชนตั้งความหวังไว้มากนัก เพราะกรรมการชุดนี้ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ไม่ใช่กันชนของรัฐบาล แต่เป็นพื้นที่กลางให้ทุกคนทุกฝ่ายมาร่วมพูดคุยกัน โดยมีผู้ใหญ่มาเป็นตัวประสานงานในการพูดคุยกัน ซึ่งทำให้แต่ละฝ่ายสามารถกลับไปคุยกันในฝ่ายของตัวเองได้

ส่วนประเด็นที่กลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎร 2563 ออกมาปฏิเสธเข้าร่วมนั้น ส่วนตัวมองว่าอยากให้กลุ่มผู้ชุมนุมมาพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน เพื่อเปิดพื้นที่ แต่แม้ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมไม่เข้าร่วมในการพูดคุย ก็มองว่าที่มีอยู่ก็สามารถคุยกันได้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเมือง ฝ่ายรัฐบาล รวมถึงนักวิชาการ และกรณีที่ม็อบมองว่า รัฐบาลตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อซื้อเวลา ไม่จริงใจในการแก้ปัญหานั้น มองว่ารัฐบาลมีความจริงใจ รวมถึงพยายามหาทางออกของประเทศ 

"ปัญหาในปัจจุบันนี้จะต้องหาทางออกโดยกลุ่มคนที่เป็นตัวกลางในการหาทางออกร่วมกัน แต่ไม่ใช่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง กลุ่มคนนั้นจะต้องมีประสบการณ์ เป็นผู้ใหญ่และมีเจตนาที่ดีต่อบ้านเมือง" นายนิกร กล่าว

นายนิกร กล่าวต่อว่า สำหรับการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญในวันที่ 17 -18 พ.ย.นี้ จะพิจารณาลงมติวาระรับหลักการทั้ง 7 ร่างคราวเดียวกัน โดยรวมกฎหมายของกลุ่มไอลอว์เข้าไปด้วย และจากนั้นเพื่อการเร่งรัดการแก้รัฐธรรมนูญ จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่รัฐบาลเสนอร่างมาพิจารณาลำดับถัดไป ซึ่งสะท้อนถึงเจตจำนงของรัฐบาลในการแก้กฎหมาย โดยรอประธานรัฐสภากำหนดวาระประชุมอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หากมีการรับหลักการร่างแก้รัฐธรรมนูญ จะมีการตั้งกมธ.วิสามัญพิจารณาในชั้นแปรญัตติ จำนวน 45 คน ตามสัดส่วน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว.

logoline