svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

แผนบันได 3 ขั้น รักษาแนวร่วมเดิม - เติมมวลชนใหม่

06 พฤศจิกายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นักวิเคราะห์การเมือง อ่าน "สัญญะ" หรือ "ความหมาย" การแถลงข่าวของแกนนำราษฎรเมื่อวานนี้ที่ท้องสนามหลวง โดยเฉพาะที่ยังคงข้อเรียกร้อง 3 ข้อ แต่ยุทธวิธีที่จะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายกำลังเปลี่ยนแปลงไปเป็นการใช้แผน "บันได 3 ขั้น" แทน

ภาพการอ่านแถลงการณ์ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ราวๆ 30 คนในนามราษฎร 2563 ที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 4 พ.ย. เพื่อประกาศจุดยืนไม่ลดระดับข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ไม่ร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกเท่านั้น ทำให้เกิดคำถามว่า เหตุใดถึงต้องมีการระดมคนมายืนนั่งและยืนอ่านแถลงการณ์ด้วยกันจำนวนมาก แถมยังเป็นการอ่านเอกสารพร้อมกันเหมือนท่องอาขยานในห้องเรียน

นักวิเคราะห์การเมือง มองเรื่องนี้ว่า ฝ่ายแกนนำผู้ชุมนุมจำเป็นต้องระดมพรรคพวกมารวมตัวกันให้มากที่สุด เพื่อทำให้แนวร่วมและผู้สนับสนุนได้เห็น unity หรือความสมัครสมานสามัคคี ความเป็นเอกภาพ ไม่ได้แตกแยกทางความคิด และเปิดให้เห็นว่าแกนหลักของการชุมนุมมีใครบ้าง ทั้งยังมีพลังในการที่จะเคลื่อนไหวต่อไป

โดยสาเหตุที่ต้องสร้างภาพให้เห็นในลักษณะนี้ ก็เพราะช่วงที่ผ่านมามีข่าวขัดแย้งทางความคิด ถึงขั้นแตกตัวไปตั้งกลุ่มใหม่ บางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องที่แข็งตัวเกินไป ทำให้สำเร็จยาก และช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาก็เริ่มมีมวลชนเข้าร่วมชุมนุมน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ทางแกนนำจึงต้องเร่งสร้างภาพให้เห็นว่า กลุ่มของพวกตนยังสามัคคี มีความเป็น unity และไม่ลดระดับข้อเรียกร้องลงเลย

การยืนยันข้อเรียกร้องเดิม 3 ข้อ ก็เพื่อต้องการส่งสัญญาณไปถึงกลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษาที่ได้รับข้อมูลเชิงลบกับสถาบันเบื้องสูงไปอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้ และมีแนวคิดต่อต้านสถาบัน ให้ดำรงความเชื่อแบบเดิมต่อไป เพราะแกนนำยังคงเดินหน้าเรียกร้องเรื่องนี้อยู่ ไม่ได้ยอมถอย ท่ามกลางสถานการณ์ที่กลุ่มปกป้องสถาบันออกมาแสดงพลังกันมากขึ้น และมีข้อมูลด้านบวกของสถาบันออกมาทางสื่อกระแสหลัก และสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้นกว่าเดิม

แผนบันได 3 ขั้น รักษาแนวร่วมเดิม - เติมมวลชนใหม่

ส่วนแนวทางการเคลื่อนไหวนับจากนี้ไป ที่อ่านได้จากภาพการแถลงข่าวเมื่อวาน คือ

1. แสดงความเอกภาพ แสดงพลังด้วยการระดมแกนนำมาเยอะๆ ยืนยันข้อเรียกร้องเดิม เพื่อรักษาฐานมวลชนเดิมเอาไว้

2. ไม่มีแกนนำที่เคยจาบจ้วงสถาบันอย่างชัดเจนมาร่วมแถลงด้วย สะท้อนว่ากำลังจะมีการปรับยุทธวิธีใหม่ คือลดการพูดจากระทบสถาบันสูงสุด แต่จะหันไปที่ข้อเรียกร้องทางการเมืองอย่างเข้มข้นแทน

โดยหลังจากนี้แกนนำจะชูแคมเปญ "นายกฯต้องลาออก" เป็นหลัก เพื่อกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และขยายแนวร่วมกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการจาบจ้วงสถาบัน ให้มาไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยกัน เช่น กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ หรือกลุ่มที่เบื่อนายกฯ เนื่องจากดำรงตำแหน่งมานเกือบ 7 ปีแล้ว เป็นต้น โดยช่วงเวลานับจากนี้จะลดระดับการจาบจ้วงให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ลง แต่จะเน้นคำพูดในเชิงปฏิรูปแทน พร้อมแสดงพลังผ่านการนัดชุมนุมใหญ่เป็นระยะ เพื่อรักษามวลชนกลุ่มเดิมเอาไว้ด้วย

ขณะเดียวกันก็จะพยายามกดดันให้รัฐบาล และ ส.ว. รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ และแย่งชิงอำนาจรัฐมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ หรือกลุ่มการเมืองที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งนี้ กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ยอมลาออก หรืออาจจะยอมลาออก แต่อำนาจยังอยู่ในกลุ่มพรรคการเมืองเดิม

แผนบันได 3 ขั้น รักษาแนวร่วมเดิม - เติมมวลชนใหม่



แนวทางการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมดังกล่าวนี้ เป็นการปรับยุทธวิธีสู่แผน "บันได 3 ขั้น" กล่าวคือ ทำให้นายกฯลาออกก่อน เป็นบันไดขั้นแรก จากนั้นก็แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าทำสำเร็จก็จะเป็นบันไดขั้นที่ 2 และมุ่งสู่เป้าหมายปฏิรูปสถาบันเป็นบันไดขั้นที่ 3 โดยการลดระดับการจาบจ้วงสถาบันลงก็เพื่อเพิ่มแนวร่วม แต่การประกาศยืนยันข้อเรียกร้อง 3 ข้อเอาไว้ ก็เพื่อรักษาฐานมวลชนเดิม โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ได้รับข้อมูลแนวปลูกฝังให้มองสถาบันในภาพลบ

จากแนวทางทั้งหมดนี้ นักวิเคราะห์การเมืองมองว่า จะได้รับแรงสนับสนุนจากฝ่ายค้าน ทั้งเรื่องการเดินเกมในสภา มวลชนนอกสภา และท่อน้ำเลี้ยง เนื่องจากฝ่ายค้านก็ต้องการเป็นรัฐบาล และ ส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านก็ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่อยู่แล้ว ติดอยู่แค่การเคลื่อนไหวของม็อบไปมุ่งจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูงมากเกินไป จนทำให้ฝ่ายค้านแสดงตัวสนับสนุนลำบากเท่านั้น

และเมื่ออำนาจรัฐเปลี่ยนมือ ก็จะนำไปสู่การโยกย้ายตำรวจ ทหาร เพื่อลดอิทธิพลของขั้วอำนาจเดิม และลดพลังอำนาจของสถาบันหลักลงไปในตัว การโยนข้อเสนอเรื่องปฏิรูปสถาบันออกมา หรือเคลื่อนไหวกดดันสถาบันสูงสุดในช่วงนั้นก็จะมีพลังมากขึ้น จนอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในที่สุด หรือไม่ก็เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างคนสองกลุ่ม และสุ่มเสี่ยงที่จะมีการปฏิวัติรัฐประหาร หรือความรุนแรงบานปลาย

มีรายงานเพิ่มเติมจากฝ่ายความมั่นคงด้วยว่า ได้มีการตรวจสอบความเคลื่อนไหวของแกนนำผู้ชุมนุมคณะราษฎร โดยเฉพาะแกนนำแถว 1 ที่เพิ่งได้ประกันตัวออกมา บางส่วนอยู่ระหว่างเดินสายในต่างจังหวัด เพื่อหาแนวร่วมการชุมนุมให้มากขึ้น เนื่องจากมีการประเมินว่ากระแสการชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพมหานครเริ่มตกต่ำลง จึงต้องไปหาแนวร่วมและปลุกกระแสใหม่ๆ ในต่างจังหวัด รวมทั้งสร้างสถานการณ์ให้เกิดกระแสขึ้นมา

ฝ่ายความมั่นคงประเมินว่า การพยายามแย่งชิงตัวผู้ต้องหา และทุบรถควบคุมตัวผู้ต้องหาในพื้นที่ สน.ประชาชื่น รวมถึงการจุดประทัดลูกบอลโยนใส่ผู้ชุมนุมที่แยกท่าพระ รวมถึงการกล่าวอ้างของแกนนำบางคนว่าถูกอุ้มตัว ถูกขู่ทำร้าย และเข้าแจ้งความไว้ในพื้นที่ สน.ลาดกระบัง ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่มีความผิดปกติ และถูกนำมาสร้างกระแสระดมมวลชนมากยิ่งขึ้น

logoline