svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ประเมินทิศทางม็อบจาก 9 ปัจจัย กับ 2 เงื่อนไขพลิกเกม

03 พฤศจิกายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดมุมวิเคราะห์ฝ่ายความมั่นคง เจาะ 9 ปัจจัยมวลชนเริ่มห่างหาย เคลื่อนไหวไร้เอกภาพ แต่ยังมี 2 เงื่อนไขที่อาจพลิกเกมได้ แนะระวังการสร้างจุดเปลี่ยนทั้งแบบจงใจและโดยบังเอิญ ลุ้นแกนนำหลักได้อิสรภาพลุยโหมกระแสเคลื่อนไหวใหญ่อีกระลอก

ต้องยอมรับว่า การนัดชุมนุมของกลุ่มปลดแอก ในนามคณะราษฎร 2563 และกลุ่มเครือข่าย ในระยะ 1-2 สัปดาห์หลังมานี้ มีจำนวนมวลชนลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ยกเว้นอีเวนท์ใหญ่จริงๆ อย่างการบุกยื่นหนังสือที่สถานทูตเยอรมัน แต่ความหนาแน่นก็ยังไม่เท่าช่วงพีคหลังวันชุมนุมใหญ่ 14 ตุลาคมอยู่ดี


ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง และหน่วยงานด้านการข่าวของรัฐบาลได้วิเคราะห์ทิศทางการชุมนุมในระยะที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่า สาเหตุที่มวลชนเริ่มเข้าร่วมน้อยลง มีเหตุปัจจัยหลายประการ เช่น


1. คนรุ่นใหม่หายเห่อ โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน-นักศึกษากลุ่มที่ตามแห่ไปกับเพื่อน หรือต้องการไปถ่ายรูปเซลฟี่ เพราะกิจกรรมเริ่มซ้ำเดิม


2. เฉพาะกลุ่มนักเรียน ช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงใกล้สอบกลางภาค และใกล้ปิดเทอม เด็กๆ จึงต้องให้ความสำคัญกับการเรียนในห้องเรียนก่อน หลังจากนี้ต้องรอดูช่วงปิดเทอมอีกครั้งว่า เมื่อเด็กว่าง ไม่ได้ไปโรงเรียน จะมีผู้ชุมนุมเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ หากไม่เพิ่มขึ้นก็อาจเป็นเพราะเหตุผลในข้อ 1


3. ช่วงที่ผ่านมาแกนนำหลักถูกจับกุม และไม่ได้ประกันตัวเกือบทั้งหมด ทำให้การขับเคลื่อนการชุมนุมไม่เป็นเอกภาพ แม้จะมีผู้บงการระดับยุทธศาสตร์คอยกดปุ่มสร้างแคมเปญ แต่เมื่อไม่มีแกนนำระดับ "แม่เหล็ก" เดินสายปราศรัยเพื่อดึงดูดมวลชน ก็ทำให้มวลชนบางส่วนเลือกไม่เดินทางไปร่วมชุมนุม


4. การจัดชุมนุมแบบไม่มีแกนนำตัวจริง หลายเวทีไม่ดึงดูดมากพอ ปราศรัยเรื่องซ้ำๆ เดิมๆ ทำให้มวลชนเกิดความเบื่อหน่าย โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา และคนรุ่นใหม่ที่มีพฤติกรรมเบื่อง่าย แสวงหาสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

ประเมินทิศทางม็อบจาก 9 ปัจจัย กับ 2 เงื่อนไขพลิกเกม



5. มีแกนนำเสื้อแดงเข้าเทคโอเวอร์การชุมนุมในบางพื้นที่ และมีพวกต้องการหาเสียงในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะ นายก อบจ. และสมาชิกสภา อบจ.เข้ามาแทรกแซง ทำให้เวทีไม่มีเอกภาพ และเริ่มมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการคงข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ ทำให้เริ่มมีการแตกตัวออกมาเป็นกลุ่มใหม่ๆ แต่พลังยังมีน้อยอยู่


6. การขยับถอยของฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะรัฐบาลที่ยอมเปิดสภาให้ ส.ส และ ส.ว.เสนอทางออกประเทศ รวมทั้งนายกรัฐมนตรีรับปากว่าจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้แรงกดดันลดลง โดยเฉพาะจากกลุ่มที่เบื่อนายกฯ แต่ไม่ได้ต้องการล้มหรือปฏิรูปสถาบัน


7. เมื่อนายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณชัดเจนว่าไม่ลาออก และพยายามลดเงื่อนไขด้านอื่น โดยเฉพาะการทยอยปล่อยตัวแกนนำผู้ชุมนุม ทำให้ข้อเรียกร้องสำเร็จยากขึ้น ส่งผลให้มวลชนที่ไม่ได้ "อิน" กับสถานการณ์มากนักเริ่มถอย เพราะส่อเค้าว่าจะเป็นการต่อสู้ระยะยาว ขณะที่การจัดชุมนุมแบบไป-กลับ สร้างแรงกดดันรัฐบาลได้น้อย แต่หากจะเปลี่ยนมาเป็นชุมนุมแบบยืดเยื้อ ก็ไม่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่


8. คนใส่เสื้อเหลืองรวมตัวกันเยอะขึ้น และใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น ทำให้ไปคานน้ำหนักการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ขับเคลื่อนกระทบสถาบัน หลายพื้นที่มีการกระทบกระทั่งกันขึ้น ส่งผลให้มวลชนไม่กล้าไปร่วม โดยเฉพาะกลุ่มเด็กนักเรียน นักศึกษา


9. แม้แกนนำผู้ชุมนุมจะพยายามเปลี่ยนประเด็นการเรียกร้องมาเป็นกดดันให้นายกฯลาออกเป็นหลัก ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวสอดรับกันทั้งในและนอกสภา แต่ความเคลื่อนไหวในโซเขียลมีเดียมีความชัดเจนว่าความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มคนที่เป็น "แกน" ของการชุมนุม โดยเฉพาะผู้คุมยุทธศาสตร์ มีเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่การล้มสถาบัน แต่ใช้คำว่าปฏิรูปสถาบันแทน ทำให้ประชาชนทั่วไปมองแบบเหมารวมว่าการชุมนุมเป็นเรื่องของการล้มเจ้า มากกว่าการเรียกร้องให้นายกฯลาออกอย่างแท้จริง ขณะที่ประเด็นกล่าวหาสถาบันหลายเรื่องก็เป็นข้อมูลเท็จ หรือใช้ตรรกะที่ไม่สมเหตุสมผล ทำให้การเคลื่อนไหวมีพลังลดลง

ประเมินทิศทางม็อบจาก 9 ปัจจัย กับ 2 เงื่อนไขพลิกเกม




จากสภาพการณ์ที่เป็นอยู่นี้ ฝ่ายความมั่นคงประเมินว่า จุดเปลี่ยนของสถานการณ์มีอยู่ 2 จุดด้วยกัน คือ


1. อาจมีการสร้างสถานการณ์บางอย่างเพื่อระดมคน และสร้างเงื่อนไขใหม่ ซึ่งสถานการณ์ที่ว่านี้เป็นไปได้ทั้งแบบจงใจให้เกิด และไม่จงใจให้เกิด โดยเฉพาะสถานการณ์ที่มีความรุนแรง เช่น มวลชนปะทะกันจากการยั่วยุ


2. เมื่อแกนนำหลักทั้งหมดได้รับประกันตัว และได้อิสรภาพ น่าจะมีพลังในการจัดชุมนุมใหญ่กดดันรัฐบาลต่อไป แต่การไม่ยอมลดข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ อาจเป็นตัวเร่งให้เกิดสถานการณ์ในข้อ 1 ได้เหมือนกัน


ฉะนั้นสถานการณ์การเมืองทั้งในสภาที่จะมีการโหวตรับหรือไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วง 1-2 สัปดาห์ข้างหน้านี้ และการชุมนุมนอกสภาที่น่าจะกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังแกนนำหลักทยอยได้ประกันตัว ถือว่าน่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะ "เอาอยู่" หรือไม่


ประเมินทิศทางม็อบจาก 9 ปัจจัย กับ 2 เงื่อนไขพลิกเกม

logoline