svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

เลือกตั้งสหรัฐฯ วัด "ผู้ชนะ" กันอย่างไร?

04 พฤศจิกายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แม้ผ่านมา 4 ปีแล้ว แต่หลายคนก็ยังไม่ลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในค่ำคืนของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2559 ที่คนทั้งโลกเรียกว่าเป็น "แผ่นดินไหวทางการเมือง" ครั้งประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ

ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว หลายคนอาจไม่ทราบว่าจริงๆ แล้ว ฮิลลารี คลินตัน ได้เสียงโหวตไปมากกว่าโดนัลด์ ทรัมป์เกือบ 3 ล้านเสียง โดยฮิลลารีได้ไป 65.8 ล้านคะแนนเสียง หรือคิดเป็น 48% ขณะที่ทรัมป์ได้ไป 62.9 ล้านเสียง หรือคิดเป็น 46%

เลือกตั้งสหรัฐฯ วัด "ผู้ชนะ" กันอย่างไร?


แล้วทำไมทรัมป์ถึงได้เป็นประธานาธิบดีทั้งที่แพ้ให้กับฮิลลารี? คำตอบก็คือ การเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ไม่ได้วัดกันที่ "ป๊อปปูลาร์โหวต" โดยตรง แต่วัดกันที่ "คณะผู้แทนเลือกตั้ง" หรือ Electoral College ซึ่งปรากฏว่า ทรัมป์ได้คะแนนผู้แทนเลือกตั้งไป 306 เสียง ขณะที่ฮิลลารีได้ไปเพียง 232 เสียง

เลือกตั้งสหรัฐฯ วัด "ผู้ชนะ" กันอย่างไร?


ทั้ง 50 รัฐ และกรุงวอชิงตันดีซี มีจำนวน Electoral College รวมกันทั้งสิ้น 538 เสียง โดยผู้ชนะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 270 เสียงขึ้นไป แต่ละรัฐมี Electoral College ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรเป็นหลัก รัฐไหนใหญ่ก็มีจำนวนผู้แทนมาก รัฐไหนเล็กก็มีผู้แทนลดหลั่นลงมา

เลือกตั้งสหรัฐฯ วัด "ผู้ชนะ" กันอย่างไร?

จำนวน Electoral College ของแต่ละรัฐดูง่ายๆ จากจำนวน "ส.ส.+ส.ว." โดย ส.ส.ทั้งสภามีจำนวนรวมทั้งหมด 435 คน ขณะที่ ส.ว.มีรัฐละ 2 คนเท่ากัน 50 รัฐ รวมเป็น 100 คน เช่น แคลิฟอร์เนียซึ่งมีจำนวนผู้แทนมากที่สุด 55 เสียง ก็มาจากจำนวน ส.ส.53 คน และ ส.ว. 2 คน, เท็กซัสมีผู้แทน 38 คน ก็มาจาก ส.ส. 36 คน และ ส.ว. 2 คน, ฟลอริดาและนิวยอร์ก 29 คนก็มาจาก ส.ส.27 คน และ ส.ว. 2 คน

เลือกตั้งสหรัฐฯ วัด "ผู้ชนะ" กันอย่างไร?


ส่วนจำนวน Electoral College "ขั้นต่ำ" อยู่ที่ 3 คน นั่นคือ รัฐไม่ว่าจะเล็กขนาดไหน อย่างน้อยต้องมี ส.ส.1 คน และ ส.ว. 2 คน โดยปัจจุบันมี 7 รัฐที่มี Electoral College 3 คน ส่วนกรุงวอชิงตันดีซีที่เป็นเขตปกครองพิเศษ ปกติไม่มีผู้แทนซึ่งมีอำนาจโหวตในสภาคองเกรส แต่ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี คะแนนเสียงของคนเมืองหลวงก็มีความสำคัญจึงมี Electoral College เท่ากับขั้นต่ำ 3 คน
จุดเด่นของระบบ "คณะผู้แทนเลือกตั้ง" ก็คือ กติกาที่มีชื่อเรียกว่า Winner Takes All นั่นคือ ใครที่ได้คะแนนโหวตมากกว่าในรัฐนั้น ก็จะได้เสียงของ Electoral College ไปทั้งหมด ไม่ว่าส่วนต่างจะมากหรือน้อยแค่ไหนก็ตาม เช่น ในการเลือกตั้ง 4 ปีก่อน ทรัมป์ได้เสียงโหวตมากกว่าฮิลลารีในรัฐมิชิแกน เพนซิลเวเนีย และวิสคอนซินไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ทรัมป์ก็สามารถกวาดเสียง Electoral College ใน 3 รัฐนี้ไปได้รวมกันถึง 46 เสียง จนทรัมป์ชนะเลือกตั้งในที่สุด ในทางตรงกันข้าม ฮิลลารีได้เสียงโหวตชนะทรัมป์ในรัฐแคลิฟอร์เนียถึง 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ได้ Electoral College ไป 55 เสียงเท่าเดิมอยู่ดี
กติกา Winner Takes All เป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายในแทบทุกรัฐ ยกเว้นเพียง 2 รัฐ คือ เมนและเนบราสกา โดย 2 รัฐนี้จะแบ่ง Electoral College ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกวัดจากเสียงโหวตของทั้งรัฐ ส่วนอีกกลุ่มวัดจากเสียงโหวตตามการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.

หากมองย้อนไปในอดีต ที่มาของ Electoral College ก็ถือว่าสมเหตุสมผล เพราะเมื่อร้อยกว่าปีก่อน การเลือกตั้งในพื้นที่กว้างใหญ่อย่างสหรัฐฯ ทำให้มีปัญหาในการรวบรวมผลคะแนน ด้วยเหตุนี้แต่ละรัฐจึงมีการแต่งตั้ง "คณะผู้แทน" เพื่อเดินทางไปออกเสียงโหวตประธานาธิบดีให้ในสภาคองเกรส

เลือกตั้งสหรัฐฯ วัด "ผู้ชนะ" กันอย่างไร?


แต่ในปัจจุบัน ระบบ Electoral College ถูกวิจารณ์จากหลายฝ่ายว่า "ไม่จำเป็น" อีกต่อไป เพราะนอกจากจะ "เข้าใจยาก" ขนาดที่คนอเมริกันทั่วไปยังไม่รู้เรื่องแล้ว ผลที่ออกมาหลายครั้งยังไม่สะท้อนป๊อปปูลาร์โหวตด้วย เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2543 และเมื่อ 4 ปีก่อน
ขณะเดียวกันกติกา Winner Takes All ก็ถูกมองว่าทำให้พรรครีพับลิกันได้เปรียบเดโมแครต เพราะฐานเสียงของเดโมแครตมักกระจุกตัวอยู่ตามเมืองใหญ่และตามรัฐชายฝั่งตะวันตกและตะวันออกของประเทศ ขณะที่ฐานเสียงของรีพับลิกันกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทำให้รีพับลิกันมีโอกาสชนะ "แบบฉิวเฉียด" มากกว่าและกวาดเสียง Electoral College ของรัฐนั้นๆ ไปทั้งหมด
นอกจากนี้ระบบ Electoral College ยังทำให้ผู้ท้าชิงเลือกลงพื้นที่เฉพาะบางรัฐที่สำคัญ โดยเฉพาะรัฐสวิงสเตทขนาดใหญ่ที่เรียกว่า "รัฐสมรภูมิ" จนละเลยการลงพื้นที่รัฐอื่นๆ ไป
ถึงแม้สหรัฐฯ จะได้ชื่อว่าเป็น "ต้นแบบ" ของประชาธิปไตย แต่ระบบการเลือกตั้งแบบ Electoral College ก็อาจถูกมองได้ว่า ทำให้ 1 เสียงของประชาชนมีค่าไม่เท่ากัน

logoline