svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

เทียบยุทธศาสตร์ "ทรัมป์-ไบเดน" ต่อ "ไทย-อาเซียน"

02 พฤศจิกายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โลกต้องจับตาทุกครั้งที่สหรัฐฯ มีการเลือกตั้งใหญ่ เพราะการเปลี่ยนแปลงตัวประธานาธิบดี ย่อมหมายความว่า นโยบายด้านต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายต่างประเทศย่อมเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย แล้วโดนัลด์ ทรัมป์ กับโจ ไบเดน มียุทธศาสตร์ต่อประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

จริงๆ แล้วนโยบายต่างประเทศของพรรครีพับลิกันและเดโมแครตไม่ได้แตกต่างกันมาก อย่างไทยก็เป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ ใกล้ชิด และเหนียวแน่นของสหรัฐฯ มาเนิ่นนาน ขณะที่ภูมิภาคอาเซียนก็ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากอาเซียนมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ใกล้กับ "จีน" ประเทศที่หน่วยความมั่นคงของสหรัฐฯ มองว่า "น่ากลัว" ที่สุดในปัจจุบัน

เทียบยุทธศาสตร์ "ทรัมป์-ไบเดน" ต่อ "ไทย-อาเซียน"

เทียบยุทธศาสตร์ "ทรัมป์-ไบเดน" ต่อ "ไทย-อาเซียน"


แต่ในยุคของทรัมป์ อาเซียนอาจไม่สำคัญเท่ากับภูมิภาคอื่น เช่น ตะวันออกกลางและคาบสมุทรเกาหลี เห็นได้จากการที่ทรัมป์เคยร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเพียงแค่ครั้งเดียวในปีแรกที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สวนทางกับอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ที่เดินทางเยือนครบทุกประเทศอาเซียน และร่วมการประชุมอาเซียนแทบทุกครั้งนับตั้งแต่ปี 2554

เทียบยุทธศาสตร์ "ทรัมป์-ไบเดน" ต่อ "ไทย-อาเซียน"


ในการสกัดอิทธิพลจีน ทรัมป์ชูนโยบาย "อินโด-แปซิฟิก" เน้นร่วมมือกับประเทศพันธมิตรอย่างอินเดีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ขณะที่ในอาเซียน สหรัฐฯ ก็มุ่งเน้น 3 ประเด็นร้อน นำมาโจมตีจีน นั่นคือ เรื่องข้อพิพาท "ทะเลจีนใต้" ที่ยังมีการกระทบกระทั่งกันอยู่เนืองๆ, เรื่อง "เขื่อนแม่น้ำโขง" ที่สหรัฐฯ กล่าวหาว่า จีนสร้างเขื่อนเพื่อควบคุมต้นน้ำ ทำให้ประเทศอาเซียนที่อยู่กลางน้ำกับปลายน้ำประสบภัยแล้งและกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ, และโครงการ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งรวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่สหรัฐฯ บอกว่า เป็น "กับดักหนี้" คุกคามอธิปไตยของประเทศอื่น แต่อาเซียนเองก็รู้สึกอึดอัดไม่น้อยที่แรงกดดันเหล่านี้ดูเหมือนกับจะบังคับให้อาเซียนต้อง "เลือกข้าง"

เทียบยุทธศาสตร์ "ทรัมป์-ไบเดน" ต่อ "ไทย-อาเซียน"


อย่างไรก็ตาม สำหรับไทย อย่าลืมว่าทรัมป์คือผู้ที่ฟื้นความสัมพันธ์กับไทยให้กลับมาสู่ระดับปกติอีกครั้ง นับตั้งแต่ถูกลดระดับไปจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557 และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ไทยคนแรกที่เยือนทำเนียบขาวในรอบกว่า 10 ปี

เทียบยุทธศาสตร์ "ทรัมป์-ไบเดน" ต่อ "ไทย-อาเซียน"


ส่วนกรณีของไบเดน หากได้เป็นผู้นำสหรัฐฯ นโยบายต้านจีนก็น่าจะยังแข็งกร้าวพอๆ กับสมัยทรัมป์ เพียงแต่น่าจะกลับมา "ปักหมุด" ให้ความสำคัญกับอาเซียนมากขึ้นเหมือนกับสมัยโอบามา เพราะในขณะที่ทรัมป์พาสหรัฐฯ "ดับเครื่องชน" จีนโดยไม่ค่อยสนพันธมิตร ไบเดนจะเน้นฟื้นฟูความสัมพันธ์กับพันธมิตรทั่วโลก แล้วร่วมกดดันจีนไปด้วยกัน
สำหรับอาเซียน คาดว่าไบเดนน่าจะพาสหรัฐฯ กลับเข้าสู่การเจรจาข้อตกลง "ทีพีพี" อีกครั้ง โดยข้อตกลงนี้ หลังทรัมป์นำสหรัฐฯ ถอนตัวตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่ง อีก 11 ประเทศก็ยังคงร่วมวงกันอยู่ในนาม "ซีพีทีพีพี" แต่สำหรับไทย ประเด็นทีพีพีก็ยังมีผู้ที่ต่อต้านอยู่ไม่น้อย เพราะมองว่าไทย "ได้ไม่คุ้มเสีย" นอกจากนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้พรรคเดโมแครตอาจชูเรื่อง "สิทธิมนุษยชน" และ "ประชาธิปไตย" มากดดันหลายประเทศอาเซียนได้
การสำรวจความคิดเห็นประชาชนใน 10 ประเทศอาเซียนเมื่อต้นปีนี้พบว่า ราว 60% เชื่อว่า หากสหรัฐฯ ได้ผู้นำคนใหม่ที่ไม่ใช่ทรัมป์ ความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ จะดีขึ้น ด้านนายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง ของสิงคโปร์ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า สิ่งที่สำคัญที่อาเซียนต้องการก็คือ อยากให้สหรัฐฯ กับจีนมีความสัมพันธ์ที่มี "เสถียรภาพ" เพื่อที่คนอาเซียนจะได้ทำมาหากินได้อย่างมั่นคงโดยไม่ต้องคอยพะว้าพะวงในการใช้ชีวิต

logoline