svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"สมานฉันท์" หรือแค่ "สมานแผล"

30 ตุลาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คำว่า "สมานฉันท์" ถูกหยิบยกกลับมาอีกครั้ง โดยเฉพาะช่วงที่ประเทศต้องเผชิญกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางความคิดในทางการเมือง จนกลายเป็นความอึมครึม หรือยากเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ เนื่องปัจจัยหลายอย่างค่อยเร้า

แม้ประเด็นสมานฉันท์ จะไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศไทย เพราะเคยถูกหยิบมาใช้ ถ้าย้อนกลับไปยังช่วงสมัยปี 2553 หลังเกิดเหตุความรุนแรงช่วงสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยุครัฐบาล "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" อดีตนายกรัฐมนตรี

"สมานฉันท์" หรือแค่ "สมานแผล"



กระทั่งมีการเชิญ "คณิต ณ นคร" อดีตอัยการสูงสุด มาทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. เพื่อหาข้อสรุปเหตุการณ์รวมถึงเปิดประตูทางออกให้ประเทศ

ซึ่งตลอดอายุการทำงาน 2 ปี ของ คอป. เวลานั้น ท้ายสุดกลับไม่มากไปกว่าเพียงรายงานเล่มหนาวางเก็บไว้บนหิ้ง เพราะหลายฝ่ายต่างเพิกเฉย จนต่อมาในยุคอดีตนารีขี่ม้าขาว "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ก้าวเท้าเข้าทำเนียบนายกฯหญิง คนแรกของไทย

"สมานฉันท์" หรือแค่ "สมานแผล"



มาสานต่อภายใต้การยกเครื่องใหม่ในนาม คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ที่มี ยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ขณะนั้นเป็นประธาน

แต่จนแล้วจนรอด กลไกที่เพื่อไทยหวังใช้สร้างความปรองดอง ก็ต้องติดขัด เพราะมาสะดุดในเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบสุดซอย ก่อนที่มวลชนเวลานั้น ออกมารวมตัวคัดค้านก่อนเป็นเหตุให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ต้องประกาศยุบสภาฯ เวลาต่อมา

ทว่า การประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ระหว่างวันที่ 26-27 ต.ค. ที่ผ่านมา หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอเปิดอภิปรายโดยไม่ลงมติ เพื่อระดมความเห็นจากบรรดาสมาชิก ส.ส. และ ส.ว. ในการหาทางออกให้กับวิกฤตประเทศเวลานี้

"สมานฉันท์" หรือแค่ "สมานแผล"



โดยส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ขึ้นมาเป็นตัวกลางทำหน้าที่ พร้อมผลักดันโมเดลของ "ดิเรก ถึงฝั่ง" อดีต ส.ว.นนทบุรี ซึ่งเคยเป็นประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีข้อเสนอให้ดึงกลุ่มความชัดแย้งทุกฝ่าย ร่วมเป็นกรรมการหาทางออกประเทศ

ขณะที่ฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทย ประกาศชัดไม่ขอร่วมสังฆกรรม เพราะมองเป็นเพียงการซื้อเวลา และยากที่จะเห็นความสำเร็จ เนื่องด้วยเหตุผลจากอดีตที่ผ่านมา

หากมองความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลอย่างเช่นอดีตที่ผ่านมา ซึ่งสำเร็จมาแล้วในยุค "บรรหาร ศิลปอาชา" อดีตนายกฯ ที่มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง (คปก.) โดยมี "ชุมพล ศิลปอาชา" น้องชาย เข้ามาขับเคลื่อน จนเป็นที่มาของการแก้ไขและได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540

"สมานฉันท์" หรือแค่ "สมานแผล"


ดังนั้น เมื่อมองถึงการได้มาของรัฐธรรมนูญ 2540 คือ คล้อยหลังจากเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 ที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นพ้อง ว่าประเทศไม่ควรผ่านช่วงมหาวิปโยค ซึ่งถือเป็นอีกหน้าหนึ่งประวัติศาสตร์ความรุนแรงของประเทศไทยครั้งสำคัญ

ทั้งหมดจึงต้องย้อนถามกลับไปยังตัวผู้แทนราษฎร ว่ามีความพร้อมมากน้อยขนาดไหน ที่จะเดินหน้าผลักดันไปสู่จุดเรียกว่าความสำเร็จ เพื่อเป็นทางออกให้กับประเทศ ซึ่งบทเรียนประเทศตลอดเกือบ 2 ทศวรรษ จากความขัดแย้งทางความคิด จนนำไปสู่การเผชิญหน้า และจบลงด้วยความรุนแรง

ดังนั้น หากไม่อยากฉายหนังม้วนเก่าซ้ำ การสมานฉันท์ครั้งนี้ควรจะเข้าสู่คำว่า "ครั้งสุดท้าย" เพื่อประเทศไทยหลุดพ้นจากหล่มปัญหา อย่าหยิบมาเพียงสมานแผลแค่ชั่วคราว แต่สุดท้ายก็ปริออก วกวนกลับสู่วงจรเฉกเช่นเดิม

logoline