svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ขานรับตั้ง กก.สมานฉันท์ - อย่าเป็นเวทีใหม่ทะเลาะกัน

28 ตุลาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นักวิชาการ นักสันติวิธี และนักกฎหมาย ประสานเสียงสนับสนุนแนวทางการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เพื่อให้เป็นเหมือนเวทีกลางในการหาทางออกให้กับประเทศ ยุติความขัดแย้งแบ่งฝ่าย แต่ยังกังวลว่าใครจะนั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน เพราะต้องได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง และทุกฝ่ายที่เข้าร่วมต้องตระหนักว่าคณะกรรมการชุดนี้ไม่ใช่ "เวทีใหม่ของการทะเลาะกัน"

ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ผู้บริหารโรงเรียนพัฒนาผู้นำและสร้างสันติธรรม "รักสคูล" ในฐานะนักสันติวิธีชื่อดัง บอกว่า หัวใจสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการตั้งกรรมการสมานฉันท์ฯ คือต้องพิจารณาว่าจะเชิญใครมาทำหน้าที่ผู้อำนวยการหรือประธานคณะกรรมการชุดนี้ เพราะจะต้องเป็นผู้ที่เข้าใจกระบวนการหาทางออกประเทศอย่างแท้จริง


ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การกำหนดกติกาในการพูดคุย ที่จะต้องมุ่งเน้นการมองไปข้างหน้าเพื่อหาทางออกอย่างแท้จริง ไม่ใช่การตั้งเวทีหยิบยกเรื่องราวความรุนแรงหรือความผิดพลาดในอดีตของแต่ละฝ่ายมาพูดกัน รูปแบบต้องเป็นการสานเสวนาหาทางออก ไม่ใช่ดีเบตชี้หน้าด่ากันเหมือนในสหรัฐอเมริกา เพราะการหาทางออกเพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริงในบ้านเรายังไม่เคยเกิดขึ้น เนื่องจากทุกวันนี้บ้านเรามีเพียงแค่ประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่มาทำหน้าที่เท่านั้น


ส่วนการดึงผู้เกี่ยวข้องทั้ง 7 ฝ่ายมาร่วมวงกรรมการสมานฉันท์ ถือว่ามีความเป็นไปได้อย่างมาก แต่ทุกคนจะต้องยอมรับในกติกาที่มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนร่วมกัน ไม่ใช่มานั่งเถียงกันเหมือนเดิม และจะต้องเข้าใจกระบวนหาทางออกประเทศอย่างแท้จริง

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า แม้ตนจะเห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ แต่ไม่ได้เห็นด้วยหากจะมีตัวแทน ส.ส.รัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภาเข้ามาร่วมเป็นกรรมการ จนกลายเป็นเวทีให้นักการเมืองนั่งคุยกัน แต่ควรจะเป็นเวทีกลางที่มาจากรัฐสภาอย่างแท้จริง ไม่ใช่ตัวแทนจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และอยากให้มีการเปิดประชุมในรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นห้องประชุมเล็กหรือใหญ่ก็ตาม ที่สำคัญต้องเป็นเวทีให้นายกรัฐมนตรีได้พูดคุยกับผู้นำของกลุ่มผู้เรียกร้องตัวจริง ซึ่งน่าจะทำให้มีทางออกได้ แต่หากตั้งเป็นคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนแต่ละฝ่ายมา ก็จะต้องมีข้อเรียกร้องในแบบของตนเอง ซึ่งเป็นรูปแบบที่สำเร็จรูป และไม่สามารถหาทางออกได้




ดร.สติธร ย้ำว่า คณะกรรมการสมานฉันท์ ควรทำหน้าที่ในการจัดหากระบวนการพูดคุย หาวิธีในการอำนวยความสะดวกให้สามารถพูดคุยกันได้ตลอดเวลา และสร้างบรรยากาศให้ทั้งสองฝ่ายพูดคุยกันให้ได้ แต่คนที่จะคุยกันจริงๆ คือนายกรัฐมนตรีและผู้นำของฝ่ายที่เรียกร้อง เป็นคู่กรณีตัวจริงของแต่ละฝาย

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณวณิก นักกฎหมายชื่อดัง และอดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ข้อดีของการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ คือ การมีพื้นที่ให้ได้พูดคุยกัน มีการสร้างกระบวนการที่ชัดเจน ซึ่งอาจทำให้มีข้อสรุปในการหาทางออกได้


แต่ข้อเสียก็คือ เมื่อนำทุกฝ่ายมาพูดคุยกัน หากยิ่งคุยก็จะยิ่งมากความหรือไม่ เพราะการอภิปรายในสภาก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่สามารถหาทางออกที่ชัดเจนได้ และถ้าแย่กว่านั้น อาจจะกลายเป็นการเพิ่มพื้นที่ให้มีการทะเลาะกันมากกว่าเดิม โดยเฉพาะหากพูดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการให้ "ผู้นำตัวจริง" จากทั้งสองฝ่ายมาพูดคุยกัน แต่ก็น่าจะเป็นไปได้ยากมาก


สำหรับข้อเสนอส่วนตัว รศ.ดร.เจษฎ์ บอกว่า การจะหาทางออกของประเทศได้สำเร็จ ประชาชนคนไทยจะต้องไม่อยากเห็นความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่ การฆ่ากัน หากคนไทยมีความรู้สึกในเรื่องนี้ร่วมกัน ก็น่าจะมีทางที่จะหาทางออกให้กับประเทศได้

logoline