svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

ติดสินบนลัดคิวไหว้พ่อปู่ศรีสุทโธคำชะโนด

27 ตุลาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรรมการคำชะโนดประชุมเครียด ถูกร้องเรียนรับเงินสินบนลัดคิวไหว้เจ้าปู่ศรีสุทโธและเจ้าย่าศรีปทุมมา หัวละ 100 ถึง 500 บาท ที่จุดคัดกรอง โดยจี้ให้ยกเลิกจุดคัดกรองพร้อมเรียกร้องเปลี่ยนคณะกรรมการยกชุด ด้านคณะกรรมการชี้แจง ใครมาก็ถูกร้องเรียน

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 ตุลาคม 2563 ที่ห้องประชุม อาคารเอนกประสงค์ วังนาคินทร์ตำชะโนด บ้านโนนเมือง ต.บ้านม่วง อ.บ้านดุง นายธวัชชัย ศรีทอง รอง ผวจ.อุดรธานี เป็นประธานการประชุมแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนของชาวบ้านบ้านโนนเมือง ที่ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายอำเภอบ้านดุง เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา และมีการนำเสนอข่าวออกไปตามสื่อต่าง ๆ โดยมี นายณัชฐเดช มุลาลี นายอำเภอบ้านดุง ในฐานะประธานกรรมการบริหารคำชะโนด นายพงษ์ศักดิ์ ศรีชนะ กำนัน ต.บ้านม่วง เลขานุการฯ พ.ต.อ.สมบัติ นาแถมพลอย ผกก.สภ.ดงเย็น อ.บ้านดุง รองประธานฯ พร้อมกรรมการบริการคำชะโนด และส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม 
 
หลังจากมีข่าวว่าชาวบ้านที่คำชะโนดออกมาแฉมีการจ่ายเงิน 100-500 บาท ลัดคิวเข้าสักการะเจ้าปู่ศรีสุทโธและเจ้าย่าศรีปทุมมา ที่บริเวณจุดคัดกรอง ให้ยกเลิกจุดคัดกรองเสีย และเรียกร้องเปลี่ยนคณะกรรมการคำชะโนดยกชุด และยังระบุอีกว่า มีผลประโยชน์จำนวนมาก ทั้งจากเงินบริจาค เก็บแผงล็อตเตอร์รี่ ลานจอดรถ อ้างตำรวจและกรรมการมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยชาวบ้านที่ร้องเรียนอยากให้ ผวจ.อุดรธานี เข้าไปตรวจสอบ และจัดระเบียบใหม่ 
 
โดยในที่ประชุม นายธวัชชัย รอง ผวจ.อุดรธานี ได้หยิบยกประเด็นปัญหาและข้อร้องเรียนที่ชาวบ้านยื่นหนังสือต่อนายอำเภอบ้านดุง และอยากให้ ผวจ.อุดรธานี เข้ามาตรวจสอบนั้น มี 4 ข้อสำคัญ คือ 1.สิทธิชุมชนขั้นพื้นฐานของพลเมืองที่จะพึงมีอยู่ ข้อที่ 2 ขอสอบถามหรือการตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการบริหารคำชะโนด ข้อที่ 3 เรื่องกำหนดหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในคำชะโนดเกี่ยวกับจุดคัดกรอง พอจะยกเลิกหรือจะเปลี่ยนแปลงแบบวิธีที่ดีกว่านี้ได้ไหม โดยต้องผ่านการเห็นชอบจากชาวบ้าน ต้องผ่านประชาคมจากหมู่บ้านเรา ข้อที่ 4 เรื่องเจ้าหน้าที่คุกคาม ชรบ.บ้านโนนเมือง เพราะทำตามหน้าที่ของผู้ช่วยเจ้าพนักงานหรือคำสั่งผู้ใหญ่บ้านออกคำสั่งเราทำงานในพื้นที่ของวัดยังโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจคุกคาม 
 
นายพงษ์ศักดิ์ ศรีชนะ กำนัน ต.บ้านม่วง ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารคำชะโนด กล่าวในที่ประชุมว่า แต่ก่อนที่กำนันผู้ใหญ่บ้านทั้ง 14 หมู่บ้าน มาดูแลคำชะโนดช่วยกัน ชาวบ้านบ้านโนนเมืองก็ดูแลกันเอง แต่ก็มีการร้องเรียนกันแทบทุกปี จนมาสมัยนายศักดิ์ชัย แตงฮ่อ เป็นนายอำเภอ ในสมัยนั้น ต้องพาไปสาบานต่อหน้าเจ้าปู่ศรีสุทโธ ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ให้รักสามัคคีไม่ทะเลาะกัน จากนั้นก็มีการจัดระเบียบการบริหารจัดคำชะโนด มีหลายฝ่ายเข้ามาร่วม เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ แต่ช่วงที่ชาวบ้านบริหารก็มีการร้องเรียนกันอีก 
 
ต่อมา อบต.บ้านม่วง มาดูแลได้แค่ปีเดียว ชาวบ้านก็ร้องเรียนอีก อบต.บ้านม่วง เขาก็ถอย จากนั้นนายอำเภอบ้านดุงก็มาเป็นประธานคณะกรรมการคำชะโนด มีกำนันผู้ใหญบ้านทั้ง 14 หมู่บ้าน มาช่วยกัน ก็มีข้อร้องเรียนอีก จนในที่สุดก็ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านทั้ง 14 หมู่บ้าน ทุกตำบลทุกหมู่บ้านมาเป็นคณะกรรมการคำชะโนด ดูแลจนถึงขณะนี้ ตอนนี้ก็ใช่ว่าคนบ้านโนนเมืองจะไม่มีส่วนร่วม เรามีเจ้าหน้าที่ที่เป็นชาวบ้านบ้านโนนเมือง เข้ามาเป็นคณะกรรมการคำชะโนด ทั้งเจ้าหน้าที่ พนักงาน ร้านค้าที่อยู่คำชะโนด ก็เป็นของคนบ้านโนนเมืองทั้งนั้น ไม่มีคนบ้านอื่นเลย ตอนนี้ชาวบ้านบ้านโนนเมืองได้รับสิทธิ์มากกว่าคนอื่นอยู่แล้ว 




ติดสินบนลัดคิวไหว้พ่อปู่ศรีสุทโธคำชะโนด



 

ด้าน นางเพ็ญจิตร เชื้อคำจันทร์ กำนัน ต.วังทอง กล่าวว่า ชาวบ้านบ้านโนนเมือง ได้รับสิทธิ์มากกว่าใครอยู่แล้ว มากกว่าคนใน 3 ตำบล คือ ต.บ้านม่วง ต.วังทอง ต.บ้านจันทน์ อีก ถ้าจะให้มาเป็นคณะกรรมการคำชะโนดคงเป็นไปไม่ได้ เพราะบางท่านไม่ได้รับการอบรมมา มีปัญหาการพูดจากับนักท่องเที่ยวอีก ชาวบ้านมองว่าคณะกรรมการคำชะโนด ที่เป็นกำนันผู้ใหญ่บ้าน มากินงบประมาณของคำชะโนด เราไม่ได้มากินงบประมาณ แต่เรามาทำงานให้เป็นระบบระเบียบ เขาคิดว่าคณะกรรมการที่เป็นอยู่ขณะนี้มากินงบประมาณของคำชะโนด ซึ่งมันไม่ใช่ 
 
ผู้ใหญ่บ้าน คนหนึ่ง กล่าวในที่ประชุมว่า ตอนนี้ใคร ๆ ก็อยากเป็นพราหมณ์ที่คำชะโนด ใครเป็นเพราะหน้าที่ทำให้รวย เราก็รับสมัครเข้ามา ขันธ์ห้า ขันครู ก็กลายเป็นขันรวย คณะกรรมการคำชะโนดก็คิดว่า เข้ามาเป็นวาระปีต่อปี หมดวาระแล้วเราก็ไม่ต่อให้ เพราะตอนนี้เราวางระบบป้องกันโควิด 19 เราก็ไม่ได้ให้พราหมณ์เข้าไปทำพิธีในศาลเจ้าปู่ศรีสุทโธ แต่ก็ให้พราหมณ์มาทำอยู่บริเวณลานบวงสรวง ตรงหน้าคำชะโนดก็ยังมีอยู่ พูดจากใจหากจะให้ชาวบ้านบ้านโนนเมืองบริหารคำชะโนดกันเอง คงมีปัญหากันแน่ 
 
ส่วนในเรื่องการคุกคาม ชรบ.นั้น พ.ต.อ.สมบัติ นาแถมพลอย ผกก.สภ.ดงเย็น ชี้แจงว่า คำชะโนดแต่ก่อนได้รับคำชมเชยมาจากภายนอกทั้งหมด แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากพวกเราร้องเรียนกันเอง ในส่วนของตำรวจมีหน้าที่อำนวยความสะดวกในด้านการจราจรและความปลอดภัย ฝากถึงทุกคนว่า เรื่องผลประโยชน์อย่าให้มันเกิดขึ้น ส่วนเรื่องที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไปคุกคาม ชรบ.นั้นไม่เป็นความจริง มี ชรบ.บางท่านพูดจากับนักท่องเที่ยวพูดจาหยาบคาย ทางตำรวจเราก็ตักเตือน แต่ไม่ใช่เป็นการคุกคาม 
 
นายธวัชชัย ศรีทอง รอง ผวจ.อุดรธานี เปิดเผยว่า หลังมีข่าวออกทางสื่อออนไลน์ ทาง นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.อุดรธานี ทราบข่าวแล้ว เกิดความไม่สบายใจ จึงสั่งให้ตนลงมาร่วมประชุม เพื่อรับฟังปัญหาว่าเกิดอะไรขึ้น เบื้องต้นตนให้ทางนายอำเภอบ้านดุงตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามประเด็นต่าง ๆ ที่มีการกล่าวหา และให้เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารคำชะโนดโดยเร่งด่วน ซึ่งตนได้เดินทางมาร่วมรับฟังปัญหาประเด็นต่าง ๆ เช่น ผู้ร้องเรียนอยากให้เลิกระบบคัดกรอง ปรับเปลี่ยนหรือผ่อนปรนมากขึ้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวและผู้แสวงบุญที่เดินทางมาคำชะโนด เข้าไปสักการระเจ้าปู่และเจ้าย่าในเกาะคำชะโนดได้ทุกคน ซึ่งเรื่องนี้ในที่ประชุมยังคงยืนยันให้มีการคัดกรองเหมือนเดิม 
 
"ระบบที่เราทำไว้ช่วงที่มีการผ่อนปรนเรื่องของโควิด-19 ให้เข้าสักการะเจ้าปู่และเจ้าย่า ที่มีการจองเข้าผ่านทางคิวอาร์โค๊ด ที่เราทำมาโดยตลอด และเข้าสักการะเป็นหมู่คณะไม่เกิน 50 คน ที่ระบบการจองคิวทางคิวอาร์โค๊ดยังใช้ได้ดี แต่ระยะหลังที่มีข้อมูลร้องเรียนว่า มีการเรียกรับเงินเพื่อลัดคิวเข้า ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ ที่คณะกรรมการที่นายอำเภอตั้งขึ้น จะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงอีกว่ามีจริงหรือไม่ แต่ความจริงแล้วการเข้าไปในเกาะคำชะโนด นักท่องเที่ยวและผู้แสวงบุญทุกคนจะต้องผ่านจุดคัดกรองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการจองผ่านคิวอาร์โค๊ด หรือผู้ที่วอร์คอินที่ไม่ได้จอง แต่มาลงทะเบียนหน้างาน เราก็ให้เข้าทั้งหมด" 
 
รอง ผวจ.อุดรธานี กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นอื่น เช่น ที่มาของการนำไหว้ การขายของ จุดจอดรถ และเรื่องอื่น ๆ เราก็ได้ประชุมแก้ปัญหากัน ทั้งเรื่องสิทธิชุมชนว่าชุมชนมีส่วนร่วมหรือไม่ ซึ่งกรรมการฯทุกคนยืนยันว่า ชุมุชนทุกคนมีส่วนร่วมในการที่จะขายของ ขายหมากพลู ขายพานบายศรี ที่เราทำเป็นระบบอยู่แล้ว ยืนยันว่าสัปดาห์หน้ะเราจะมีการปรับเปลี่ยนจุดคัดกรองมาตั้งที่ศาลาโอทอป ที่เป็นแนวทางเดินยาว ที่จะสามารถมีที่นั่งรอมากขึ้น แถวยาวขึ้น คนที่มารอจะไม่ต้องนั่งในเต้นท์ให้ร้อน ซึ่งจะมีความสะดวกสบายขึ้น แต่ถึงจะย้ายจุดคัดกรอง จะมีการตรวจวัดไข้ด้วยเทอร์โมสแกนเหมือนเดิม 
 
"ฉะนั้นเรื่องที่มาข่าวออกไป เมื่อมาดูรับฟังข้อเท็จจริงแล้ว มันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เป็นข่าว เพราะทุกเรื่องเรามีการพูดคุยเคลียประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะมีการสื่อสารกันผิดบ้าง จนทำให้คิดไปเองว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้ ตนขอยืนยันว่ากาสรเดินทางมากราบไหว้เจ้าปู้ศรีสุทโธและเจ้าย่าศรีปทุมมา ในเกาะคำชะโนด นักท่องเที้ยวและผู้แสวงบุญยังคงมาได้เหมือนเดิม แต่ขอความร้วมมือในการจองคิวผ่านระบบคิวอาร์โค๊ด ที่ต่อไปจะเพิ่มรอบและปริมาณคนเข้าไปสักการะให้มากขึ้น จากเดิมจองในระบบ 5,000 คนต่อวัน จะเพิ่มขึ้นตามที่มีนักท่องเที่ยวและผู้แสวงบุญเดินทางมาประมาณ 8,000 ถึง 10,000 คนต่อวัน" 





 
 

ติดสินบนลัดคิวไหว้พ่อปู่ศรีสุทโธคำชะโนด

นายธวัชชัย  กล่าวต่อไปว่า ซึ่งผู้ที่ไม่ได้จองคิวทางคิวอาร์โค๊ต ก็คงต้องรอคิวหลัง ๆ เพราะระบบที่วางไว้มันเป็นอย่างนั้น ซึ่งก็คงต้องช้าหน่อย ส่วนที่ว่าจะมีใครมาเรียกเก็บเงินเพื่อลัดคิวเข้า ขออย่าไปสนใจ อย่าไปทำตามที่เป็นข่าว เพราะว่าเราไม่มีการเรียกเก็บเงินเพื่อลัดคิวอยู่แล้ว ส่วนประเด็นอื่น ๆ ยังคงมีมาตรฐาน มีความอุ่นใจในการเข้าไปสักการะเจ้าปู่และเจ้าย่า เพราะทางนายอำเภอบ้านดุง และทาง ผกก.สภ.ดงเย็น ได้ร่วมทำงานอย่างเข้มแข็ง ด้วยการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการบริหารคำชะโนด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ ซึ่งขอให้นักท่องเที่ยวและผู้แสวงบุญที่มากราบไหว้เจ้าปู่และเจ้าย่าได้เหมือนเดิม ที่มีความปลอดภัย และเราจะไม่มีการยกเลิดจึดคัดกรอง จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะหมดไปจากประเทศไทย 
 
"ส่วนเรื่องหมอพราหมณ์หรือพ่อจ้ำทำพิธี ที่เดิมจะทำพิธีบนศาลของเจ้าปู่เจ้าย่า ที่มีความใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวและผู้แสวงบุญ ที่มีโอกาสติดเชื้อได้ ซึ่งเราไม่มีการนั่งกราบ ต้องยืนไหว้ มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มากล่าวนำบูชา แต่ไม่ใช่ว่าเมื่อไม่มีแล้วจ้ำจะไม่มีงานทำ เราก็ยังมีการจุดบวงสรวงและจุดแก้บน จะว่าจ้ำตกงานไหม มันก็อยู่ในช่วงโควิด19 ที่มีการปรับเปลี่ยน ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์"...... 



ติดสินบนลัดคิวไหว้พ่อปู่ศรีสุทโธคำชะโนด


logoline