svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ตรวจแถวประชุมสภาฯเจาะข้อเสนอ"ทางออกประเทศ"

26 ตุลาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญวันแรก ทางออกประเทศยังแผ่วเบา ส่วนใหญ่เน้นหนักเรียกร้องให้นายกฯลาออก "เนขั่นทีวี" สำรวจประเด็นที่เป็นข้อเสนอดีๆ ผ่าทางตันให้บ้านเมือง จับตาขับเคลื่อนโมเดลคณะกรรมการสมานฉันท์ เปิดเวทีกลางดึงทุกฝ่ายร่วมวงถก

การประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญวันที่ 26-27 ต.ค. 2563 คือ เวทีหาทางออกให้กับประเทศ ท่ามกลางวิกฤตการณ์ความขัดแย้งและการชุมนุม น่าสนใจว่าการประชุมเกือบ 1 วันที่ผ่านมา มีข้อเสนออะไรที่เป็นทางออกจริงๆ บ้างหรือไม่

ข้อเสนอที่เรียกร้องกันมาก คือ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันที แต่ "บิ๊กตู่" ไม่ได้ตอบสนอง ก็ต้องถือว่าข้อเรียกร้องนี้ตกไปในขณะนี้

ส่วนข้อเสนออื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคแกนนำลำดับ 3 ของรัฐบาล เสนอให้ตัวแทนรัฐบาล รัฐสภา และผู้ทรงคุณวุฒิของบ้านเมือง หารือกันเพื่อตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ โดยยึดหลัก 3 ข้อ คือ

1. กรรมการต้องมีผู้เกี่ยวข้องจากทั้งในและนอกสภา 7 ฝ่าย ได้แก่ ตัวแทนรัฐบาล, ส.ส.รัฐบาล, ส.ส.ฝ่ายค้าน, สมาชิกวุฒิสภา, ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม, ฝ่ายที่เห็นต่างกับผู้ชุมนุม และฝ่ายอื่นๆ เช่น ผู้ทรงคุณวุฒิ

2. ให้คณะกรรมการชุดนี้หาทางออกที่เป็นรูปธรรมสำหรับประเทศ แล้วให้ผู้เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาทันที โดยไม่ชักช้า เช่น เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ น่าจะสามารถทำได้ทันที ส่วนเรื่องที่เห็นต่างกันอยู่ ก็ให้แขวนไว้ก่อน แล้วเร่งหารือเพื่อหาจุดร่วม

3. ให้ดำเนินการเรื่องนี้ด้วยความรวดเร็ว

อีกคนหนึ่งที่มีข้อเสนออย่างเป็นรูปธรรมถึง 9 ข้อ และเรียกร้องไปยังทุกฝ่าย คือ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) คือ

1. ใช้หลักรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ดูแลความขัดแย้งอย่างเหมาะสม มีเวทีพบปะพูดคุยทำความเข้าใจกันระหว่างคน 2 เจนเนอเรชั่น ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจากตัวแทนทุกฝ่ายเพื่อพูดคุยกัน (ประเด็นนี้จะคล้ายๆ ข้อเสนอของนายจุรินทร์)
2. รัฐบาลไทยต้องชี้แจงองค์กรต่างประเทศให้ดีกว่านี้ ขณะที่ฝ่ายอื่นๆ ก็อย่าชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน เพราะยังมีการล่าอาณานิคมในรูปแบบใหม่อยู่จริง

3. รัฐบาลต้องตั้งทีมจัดการข่าวลวง ข่าวเท็จแบบเชิงรุก โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย
4. ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว. ต้องร่วมมือกันปฏิรูปทุกด้าน ทั้่งการเมือง สังคม กระบวนการยุติธรรม สื่อมวลชน เศรษฐกิจ และแก้ทุจริต

5. เปิดเวทีกลางให้ผู้ชุมนุมไฮด์ปาร์คแบบเดียวกับที่อังกฤษ สามารถเสนอความเห็นได้อย่างมีเสรีภาพ แทนที่จะชุมนุมบนท้องถนน

6. ไม่ควรให้การเคลื่อนไหวนอกสภาเป็นแรงกดดันการทำงานในสภา

7. ยกเลิกข้อเรียกร้องที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

8. นายกรัฐมนตรีไม่ควรลาออก

9. ถ้าทำข้อ 1-8 ไม่ได้ ก็ให้คณะรัฐมนตรีทำประชามติเพื่อรับฟังเสียงประชาชน 60 กว่าล้านคน

ประเด็นการทำประชามติสอบถามความเห็นของพี่น้องประชาชน ยังมีสมาชิกอีกหลายคนที่เสนอ เช่น นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอให้เพิ่มบัตรอีก 1 ใบ ในการเลือกตั้งนายก อบจ. วันที่ 20 ธ.ค.นี้ เป็นบัตรสอบถามประชาชนว่ายังอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อไปหรือไม่ ขณะที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เสนอให้ทำประชามติ ว่าประชาชนเห็นด้วยกับการชุมนุมหรือไม่

สำหรับข้อเสนอการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ก็มีสมาชิกคนอื่นๆ เสนอด้วยเช่นกัน อาทิ "มาดามเดียร์" น.ส.วทัญญา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่เสนอรัฐบาลควรเปิดพื้นที่ หรือ "เวทีกลาง" ทั้งในและนอกสภาฯ ควบคู่กัน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางตรงจากทั้งสองฝ่าย ระหว่างรัฐและประชาชน เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านกฎหมาย การแลกเปลี่ยนทัศนะความคิด โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อให้คนเหล่านั้นได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศอย่างสร้างสรรค์ แต่ข้อเสนอของทั้งสองฝ่าย ต้องเป็นไปด้วยเหตุผลที่สังคมยอมรับ เพื่อหาจุดสมดุลที่เป็นประโยชน์กับประเทศ

ขณะที่มีข้อเสนอแบบขำๆ เช่น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ที่ประกาศว่าถ้านายกฯยอมลาออก ก็จะลาออกด้วย

logoline