svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

ราคาน้ำมันถูกกดดันต่อเนื่อง จากอุปสงค์ที่ชะลอตัวลงและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ยังไร้ข้อสรุป

26 ตุลาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 38-43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 39-44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล


บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 26 ตุลาคม 2563 


แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (26 - 30 ต.ค. 63)



ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันต่อเนื่อง จากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังของสหรัฐฯ มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงอุปทานที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ และลิเบีย นอกจากนี้ ตลาดยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนของการเจรจานโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มไม่สามารถหาข้อสรุปได้ก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในวันที่ 3 พ.ย. นี้ อย่างไรก็ตาม ราคายังคงได้รับแรงหนุนจากการเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรที่ยังคงปรับลดกำลังการผลิตในระดับที่สูงต่อเนื่อง



ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:



1.ความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลง หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 16 ต.ค. ปรับลดลง 1.0 ล้านบาร์เรล น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ราว 1.4 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 1.9 ล้านบาร์เรล สวนทางกับตลาดที่คาดไว้ว่าจะปรับลดลง 1.5 ล้านบาร์เรล หลังความต้องการใช้น้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงค่อนข้างมากมาสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 63



2.ติดตามการเจรจามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐฯ ว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในวันที่ 3 พ.ย. นี้หรือไม่ หลังทั้งสองฝ่ายยังคงไม่สามารถตกลงแก้ไขปัญหาบางประเด็น อาทิ วงเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ 1.8 หรือ 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ 



3.การผลิตน้ำมันดิบของลิเบียมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังผู้ผลิตเริ่มกลับมาทยอยเปิดดำเนินการแหล่งผลิตและท่าเรือส่งออกน้ำมันดิบ โดยปริมาณการผลิตล่าสุดเพิ่มขึ้นมาต่อเนื่องแตะระดับที่ 500,000 บาร์เรลต่อวัน โดยบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียคาดปริมาณการผลิตจะเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 800,000 บาร์เรลต่อวันภายใน 2 สัปดาห์และจะแตะระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันภายใน 4 สัปดาห์ หลังจากที่ได้มีการยกเลิก Force Majeure ที่ท่าเรือส่งออกขนาดใหญ่ Es Sider และ Ras Lanuf



4.ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มสูงขึ้น จากการที่ผู้ผลิตน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโก สหรัฐฯ เริ่มกลับมาเปิดดำเนินการผลิตน้ำมันดิบ หลังต้องหยุดดำเนินการไปชั่วคราวราว 1.68 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากผลกระทบของพายุเฮอริเคนเดลต้า นอกจากนี้ ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เริ่มปรับเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบเพิ่มมากขึ้น หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล โดย Baker Hughes เปิดเผยจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในสัปดาห์ สิ้นสุด ณ วันที่ 16 ต.ค. ปรับตัวขึ้นมาสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 63



5.กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร เปิดเผยในการประชุมเมื่อวันที่ 19 ต.ค. ว่ากลุ่มผู้ผลิตยังคงเดินหน้าปฏิบัติตามข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิต โดยในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมากลุ่มโอเปก-10 ได้ปฏิบัติตามแผนข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตรวมกว่าร้อยละ 101 อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้มีการหารือกันถึงระดับการปรับลดกำลังการผลิตในปีหน้า ทั้งนี้ กลุ่มผู้ผลิตจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 30 พ.ย. 1 ธ.ค. และคาดจะมีการพิจารณาว่าจะมีการขยายการปรับลดกำลังการผลิตที่ 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวันไปอีกหรือจะปรับลดลงตามแผนเดิมมาอยู่ที่ราว 5.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน



6.เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีดีพีสหรัฐฯ ไตรมาส 3/63 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะปรับตัวสูงขึ้นกว่าไตรมาสก่อนหน้า จีดีพียูโรโซนไตรมาส 3/63 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะปรับตัวสูงขึ้นกว่าไตรมาสก่อนหน้า การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ




สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (19 - 23 ต.ค. 63)



ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 39.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 41.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 41.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงกดดันจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นกว่า 40 ล้านคนและทำให้หลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปกลับมาดำเนินมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง นอกจากนี้ ราคายังเผชิญกับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้และปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง

logoline