svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

ทุจริตเบี้ยเลี้ยง ตร.โควิด 19 โยงจนท.การเงิน

26 ตุลาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จเรตำรวจ ระบุชัดผลสอบ ทุจริตเบี้ยเลี้ยงโควิด 19 ระดับนครบาล-ตำรวจภูธรภาค 1-9 ชี้ ผู้กระทำผิดเป็น จนท.การเงินไม่ใช่เครือข่าย ทั้งโอนให้กับผู้ไม่มีสิทธิ์-โอนให้ผู้มีสิทธิ์แต่ถูกถอนออก อยู่ระหว่างตรวจสอบ "จงใจ-ข้อผิดพลาด" ยันเงินเบี้ยเลี้ยงต้องโอนเข้าบัญชีส่วนตัวโดยตรงเท่านั้น

กรณีตำรวจชั้นผู้น้อยร้องเรียนถูกอมเบี้ยเลี้ยงภารกิจป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด 19 เรื่องนี้ทำให้ทาง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ได้สั่งให้ทุกหน่วยดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายงานผลกลับมาทางตร.โดยให้ทางจเรตำรวจรวบรวมข้อมูลตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น
ล่าสุดวันนี้ ทางพล.ต.อ. วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ ได้เรียกประชุม จเรตำรวจระดับกองบัญชาการ จาก กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) และกองบัญชาการตำรวจภูธร (บช.ภ.)ภาค 1-9 มารายงานผลการตรวจสอบ ปมทุจริตเบี้ยเลี้ยงโควิด 19 ที่สำนักงานจเรตำรวจ ถนนรามอินทรา โดยภายหลังจากการประชุม นานกว่า 1 ชั่วโมง 30 นาที พล.ต.อ.วิสนุ ได้เปิดเผยถึงผลการตรวจสอบ ซึ่งมีแนวโน้มพบว่ามีหลายแห่งที่เข้าข่ายกระทำผิดจริง

ทุจริตเบี้ยเลี้ยง ตร.โควิด 19 โยงจนท.การเงิน


พล.ต.อ.วิสนุ ระบุว่า รายงานผลการประชุมพบว่ามีการดำเนินการไม่ตามระเบียบในหลายหน่วยงานทั้งในระดับตำรวจนครบาล และตำรวจภูธรภาค 1-9 คือ โอนให้กับผู้ไม่มีสิทธิ์ หรือโอนให้ผู้ที่มีสิทธิ์แล้วถอนออกมา พล.ต.อ.สุวัฒน์ ได้สั่งให้ดำเนินคดีผู้กระทำผิดทุกราย พร้อมตั้งกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง ยืนยันว่าตำรวจที่ทำงานตั้งด่านต้องได้เงินเต็มตามจำนวนหมดทุกหน่วย

พล.ต.อ.วิสนุ กล่าวต่อว่า เมื่อแยกความผิดตามท้องที่ พบว่าภูธรภาค 1 มีที่ จ.สระบุรี นนทบุรี ซึ่งตั้งกรรมการสืบสวนสอบสวนแล้ว ภาค 3 มี จ.สุรินทร์ ภาค 4 จ.เลย สภ.ท่าลี่ และอื่นๆ จ.ขอนแก่น สภ.มัญจาคีรี จ.มหาสารคาม ภาค 5 จ.เชียงราย ภาค 6-7 ยังไม่พบ ภาค 8 สภ.ทุ่งสง สภ.ป่าตอง จ.ภูเก็ต สั่งภาคทัณฑ์ ภาค 9 จ.พัทลุง โดยระเบียบ กตร.กำหนดเบี้ยเลี้ยงให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ทุกชั้นยศชั่วโมงละ 60 บาท ไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน ตามหลักต้องโอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัวของเจ้าหน้าที่โดยตรง หากโอนไปบัญชีอื่นใดก็ผิดหมด

ทุจริตเบี้ยเลี้ยง ตร.โควิด 19 โยงจนท.การเงิน


"เรามีเส้นทางการเงินที่ชัดเจน จะมอบอำนาจให้คนอื่นโอนไม่ได้ โดยผู้กระทำผิดส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่การเงินที่กระทำเป็นรายบุคคลทั้งหมด ยังไม่ใช่เครือข่าย บางแห่งอาจจะทุจริตทั้งจังหวัด บางแห่งอาจจะเฉพาะโรงพัก ซึ่งกำลังตรวจสอบว่าเป็นการจงใจหรือเกิดจากข้อผิดพลาด สำหรับในนครบาลต้องดูว่า เจ้าหน้าที่ปฏิบัติภารกิจในม็อบหรือไม่"
"ทั้งนี้ มีโรงพักที่ร้องเรียนมาไม่ถึงสิบแห่ง ยังมีหน่วยอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ร้องเรียนเข้ามา แต่ก็ต้องตรวจสอบย้อนหลังทั้งหมดเช่นกัน" พล.ต.อ.วิสนุ ระบุ

ทุจริตเบี้ยเลี้ยง ตร.โควิด 19 โยงจนท.การเงิน


พล.ต.อ.วิสนุ บอกอีกว่า สำหรับขั้นตอนการสืบสวนข้อเท็จจริง ระเบียบ กตร.กำหนดเวลาทำงานใน 60 วันหรือเร็วกว่านั้น หากไม่ทันก็ขยายเวลาให้ผู้ถูกกล่าวหา หาเหตุผลมาหักล้าง และตั้งกรรมการตรวจสอบว่าผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ ซึ่งโทษสูงสุดคือสั่งปลดออกจากราชการ และคดีอาญาก็ต้องยื่นเรื่องไปถึง ป.ป.ช.

logoline