svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ปริศนาที่ต้องไข...ทำไมต้องเร่งไล่"ประยุทธ์"

24 ตุลาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม และท่าทีของบรรดานักการเมืองฝ่ายค้าน โดยเฉพาะคณะก้าวหน้า กับพรรคก้าวไกล ที่แข็งขันขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างหนักในช่วงนี้ เพื่อให้พ้นจากตำแหน่งไปโดยเร็วนั้น ทำให้น่าคิดว่าทำไมฝ่ายต่อต้านรัฐบาลถึงต้องวางยุทธศาสตร์ขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างจริงจัง โดยไม่สนใจเรื่องการยุบสภา

เมื่อดูเหตุผลข้อแรก เป็นการสร้างแนวร่วมในการชุมนุมและขับไล่รัฐบาล เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งมานานกว่า 6 ปีแล้ว ถ้าเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง ก็ยาวนานถึง 1 สมัยครึ่ง หรือสมัยละ 4 ปี ซึ่งขนาดรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร ยังอยู่ได้แค่ 5 ปี ฉะนั้นย่อมมีประชาชนบางส่วนที่เบื่อหน่าย

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ภาวะเศรษฐกิจมีปัญหา โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเทึ่ยว ทำให้มีคนตกงานและเดือดร้อนจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็โทษรัฐบาล ฉะนั้นยุทธศาสตร์การไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จึงตอบโจทย์ในการสร้างแนวร่วมให้ขยายวงกว้างมาก

เหตุผลข้อสอง เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ คือ "ก้างขวางคอ" ชิ้นใหญ่ หากจะเดินหน้าข้อเรียกร้องอื่นๆ ต่อไป ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบยกร่างใหม่ทั้งฉบับ และการปฏิรูปสถาบัน ซึ่่งดูจากท่าทีของม็อบและฝ่ายการเมืองบางคนแล้ว น่าจะไปไกลกว่าการปฏิรูปสถาบันอย่างที่พูดกัน แต่หาก พล.อ.ประยุทธ์ ยังอยู่ ก็จะทำให้การขับเคลื่อนประเด็นตามข้อเรียกร้องเหล่านี้เป็นไปได้ยาก และยังมี ส.ว. หรือ สมาชิกวุฒิสภาที่ยังไม่ถูกปิดสวิตช์ด้วย ซึ่งถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก ส.ว.จะเสียงแตก เหมือนถูกปิดสวิตช์ไปโดยปริยาย

จะสังเกตเห็นว่า ระยะหลังทั้ง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้ออกมาร่วมเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก เพื่อเปิดทางให้สภาเลือกนายกฯใหม่ แถมนายปิยบุตรยังมีการระบุชื่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยด้วย ซึ่งเป็นเทคนิคตอกลิ่มความสัมพันธ์ในพรรคร่วมรัฐบาล

สาเหตุที่ออกมาเรียกร้องแบบนี้ ก็เพราะหาก พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก ก็ต้องมีการรวบรวมเสียงในการโหวตเลือกนายกฯกันใหม่ โดยใช้รัฐธรรมนูญฉบับเดิม คือต้องโหวตกันในที่ประชุมรัฐสภา คิดจากเสียงจำนวนเต็ม ส.ส.รวมกับ ส.ว.คือ 750 เสียง การจะได้เป็นนายกฯ ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง คือ 376 เสียงขึ้นไป เพราะเวลาโหวตจริง อาจจะต่ำกว่านี้ เนื่องจาก ส.ส.ในสภาฯเหลือ 488 คน

การจะได้เสียงสนับสนุนระดับนี้ ฝ่ายการเมืองต้องมาเจรจาต่อรองกันใหม่ โดยเฉพาะหากจะไม่ใช้เสียง ส.ว.มาช่วยโหวต ก็ต้องใช้เสียง ส.ส.มากที่สุด การรวบรวมเสียง ส.ส.จึงต้องมีข้อต่อรองเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องการตั้ง ส.ส.ร. รวมไปถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ใน แบบที่รื้อหมวด 1 และหมวด 2 หรือ หมวดรูปแบบการปกครอง และสถาบันฯ ซึ่งการเจรจาต่อรองจะเปิดกว้างมากขึ้น ไม่เหมือนกับช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังอยู่ในตำแหน่ง

เมื่อการต่อรองเปิดกว้างมากขึ้น โอกาสที่ฝ่ายค้านจะชิงความได้เปรียบก็มีสูง เพราะมีม็อบนอกสภาเป็นมวลชนกดดันอีกชั้นหนึ่ง การจะประสบความสำเร็จในข้อเรียกร้องต่อๆ ไปก็มีมากขึ้น ซึ่งยังไม่รู้ว่าบทสรุปจะไปจบลงที่ตรงไหน เนื่องจากมีมวลชนนอกสภาเป็นตัวแปร อาจจะเรียกร้องไปเรื่อยๆ มากกว่า 3 ข้อที่เรียกร้องอยู่ในขณะนี้ก็เป็นได้

เป็นที่น่าสังเกตว่า ข้อเรียกร้องของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามสถานการณ์ จากตอนแรกคือ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ปิดสวิตช์ ส.ว. รับไม่ได้กับรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ ต้องยกเลิกทันที แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนข้อเรียกร้องให้ใช้รัฐธรรมนูญต่อไปได้ แต่ต้องไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ไปก่อน นี่คือความย้อนแย้งของข้อเรียกร้อง และสาเหตุที่แท้จริงที่ต้องขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์

ส่วนการยุบสภา ฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดการยุบสภา เนื่องจากนายกฯจะได้เปรียบ เพราะยังมีสถานะเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการอยู่ และการเลือกตั้งก็ยังเป็นไปตามกติกาเก่า ที่สำคัญ นายธนาธร นายปิยบุตร ตลอดจนแกนนำคณะก้าวหน้า จะไม่สามารถลงเลือกตั้งได้ เนื่องจากยังถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ซึ่งเป็นผลจากการยุบพรรคอนาคตใหม่

logoline