svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

24 ต.ค. ครบรอบ 75 ปี "สหประชาชาติ"

23 ตุลาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันนี้ (24 ตุลาคม 2563) เป็นวันครบรอบขององค์การสหประชาชาติ ที่ก่อตั้งมาครบ 75 ปี โดยก่อตั้งขึ้นเพื่อ "นำสันติภาพมาสู่โลก" วันนี้ "เนชั่นออนไลน์" จึงขอพาไปทำความรู้จักกับองค์กรนี้กัน

องค์การสหประชาชาติ ( UNITED NATIONS ) ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2488 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำสันติภาพมาสู่โลก อีกทั้งให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ให้กับประเทศสมาชิก ปัจจุบันองค์การสหประชาชาติมีสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยประเทศไทยเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2489 เป็นสมาชิกลำดับที่ 55
องค์การสหประชาชาติ หรือ United Nations - UN ก่อตั้งขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482-2488) โดยความร่วมมือของ วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และ แฟรงคลิน ดี รูสเวลท์ ( Franklin D. Roosevelt ) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เนื่องมาจากเหตุผล 3 ประการ ได้แก่

  • ระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศคู่กรณีด้วยสันติวิธี
  • เป็นแกนกลางในการนำสันติภาพอันถาวรมาสู่โลก
  • เป็นศูนย์กลางความร่วมมือช่วยเหลือ ระหว่างประเทศในทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

  • 24 ต.ค. ครบรอบ 75 ปี "สหประชาชาติ"



    องค์การสหประชาชาติมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ภาษาทางการที่ใช้มีอยู่ 6 ภาษา ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน รัสเซีย จีน และภาษาอาหรับ มีการจัดแบ่งการบริการออกเป็นองค์กรต่าง ๆ 6 องค์กร ดังนี้
    สมัชชา ( General Assembly )
    คือ สมาชิกขององค์การสหประชาชาติทุกประเทศต้องเป็นสมาชิกสมัชชาด้วย สมัชชาจะจัดให้มีการประชุมสมัยสามัญในวันอังคารที่ 3 ของเดือนกันยายน และอาจมีประชุมสมัยพิเศษขึ้นตามโอกาสที่เหมาะสม ในการประชุมแต่ละครั้งประเทศสมาชิกมีสิทธิส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมได้ แต่ต้องไม่เกิน 5 คน แต่ละประเทศมีสิทธิ์ออกเสียงได้ประเทศละ 1 เสียง สมัชชาจะประกอบไปด้วยประธานสมัชชา 1 คน รองประธานจำนวน 17 คน โดยจะคัดเลือกจากทวีปยุโรป 3 คน อเมริกาใต้ 3 คน เอเชียและแอฟริกา 7 คน และประเทศที่เป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงจำนวน 5 คน (ถ้าประธานมาจากพื้นที่ใด รองประธานจากเขตนี้นต้องลดลงจำนวน 1 คน)

    24 ต.ค. ครบรอบ 75 ปี "สหประชาชาติ"



    คณะมนตรีความมั่นคง (Security Council)
    หน้าที่ของคณะมนตรีความมั่นคง คือ การระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศ ซึ่งสามารถใช้กำลังทหารในการระงับข้อพิพาทกรณีนั้นได้ รักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ สอบสวนกรณีพิพาทหรือสาเหตุอันอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกันได้ และหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางด้านสันติภาพของโลก คณะมนตรีความมั่นคง ประกอบด้วยสมาชิก 15 ประเทศ มีสมาชิกถาวร 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ รัสเซีย ฝรั่งเศส และจีน และสมาชิกเลือกตั้งอีก 10 ประเทศ และอยู่ในตำแหน่งครั้งละ 2 ปี
    คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม ( Economic and Social Council )
    มีหน้าที่ประสานงานให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และมนุษยธรรม ระหว่างสมาชิกประเทศ มีสมาชิกจำนวน 54 ประเทศ อยู่ในตำแหน่งครั้ง ละ 3 ปี
    คณะมนตรีภาวะทรัสตี ( Trusteeship Council )
    มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและดูแลการบริหารงานดินแดนที่อยู่ในภาวะทรัสตี สมาชิกและคณะมนตรีภาวะทรัสตีนี้ได้แก่ ประเทศที่ทำหน้าที่ปกครองดินแดนในภาวะทรัสตี สมาชิกประจำคณะมนตรีความมั่นคงและสมาชิกอื่น ๆ ที่เลือกตั้งโดยสมัชชา คณะมนตรีภาวะทรัสตีได้ดำเนินนโยบายที่จะให้ประเทศที่อยู่ในภาวะทรัสตีสามารถประกาศตนเป็นเอกราชได้และสามารถทำสำเร็จมาแล้วหลายประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่อยู่ในทวีปแอฟริกา โดยคณะมนตรีภาวะทรัสตีแห่งสหประชาชาติที่ได้ยุติการปฏิบัติงานในปี พ.ศ. 2537
    ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (Intermational Court of Justice )มีหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีพิพาททางกฎหมายระหว่างประเทศ และให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานอื่น ๆ ในองค์การสหประชาชาติ เช่น ศาลโลก คณะมนตรีความมั่นคง สำนักงานของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตั้งอยู่ที่ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประกอบด้วยผู้พิพากษา 15 คน อยู่ในตำแหน่งคราวละ 9 ปี โดยการคัดเลือกจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่ ร่วมกับคณะมนตรีความมั่นคง


    24 ต.ค. ครบรอบ 75 ปี "สหประชาชาติ"


    สำนักงานเลขาธิการ (The Secretariat)มีหน้าที่ควบคุมดูแลการบริหารและธุรการขององค์กรต่าง ๆ ในองค์การสหประชาชาติ ซึ่งมีบทบาท สำคัญในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง และปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสันติภาพของโลก มีเลขาธิการเป็นผู้บริหารงาน อยู่ในตำแหน่งครั้งละ 5 ปี โดยการแต่งตั้งจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่
    นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานพิเศษขององค์การสหประชาติอีกมากมาย ดังนี้

  • องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ
  • องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ
  • กองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม
  • องค์การแรงงานระหว่างประเทศ
  • องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ
  • สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ
  • องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ
  • องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ
  • สหภาพไปรษณีย์สากล
  • กลุ่มธนาคารโลก
  • องค์การอนามัยโลก
  • องค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก
  • องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก
  • องค์การการท่องเที่ยวโลก
  • หน่วยงานพิเศษของสหประชาชาติในอดีต
  • หน่วยงานพิเศษที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานที่มีความเทียบเท่าหน่วยงานพิเศษของสหประชาชาติ (ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ, องค์การการค้าโลก, ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ)
  • logoline