svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

คมนาคมชงครม. พ.ย.นี้ เคาะส่วนต่อขยายสายสีชมพู

23 ตุลาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คมนาคมเตรียมเสนอ ครม.เดือน พ.ย.นี้ อนุมัติก่อสร้างต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพู เชื่อมเมืองทองธานี หลังผ่านการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว ด้านบีทีเอสยันพร้อมก่อสร้าง คาดใช้เวลาไม่เกินปีครึ่ง

ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ระบุ โครงการส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ช่วงสถานีศรีรัช (ถนนแจ้งวัฒนะ) - เมืองทองธานี ได้ผ่านการเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอแล้ว ซึ่ง รฟม.ได้เสนอไปยังกระทรวงคมนาคมให้อนุมัติโครงการ และอยู่ระหว่างเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ
สำหรับโครงการ ส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีชมพูแคราย-มีนบุรี ช่วงสถานีศรีรัช เมืองทองธานี เป็นข้อเสนอของบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ NBM  ซึ่งอยู่ในกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ผู้รับสัมปทาน โดยได้นำเสนอจะลงทุนเองในงบประมาณราว 3,379 ล้านบาท สร้างจากสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กิโลเมตร จำนวน 2 สถานี
เบื้องต้นคาดว่า ครม. จะพิจารณารายละเอียดการขออนุมัติก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพูภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ 
ด้านสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS ระบุ ข้อเสนอส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพูผ่านการเห็นชอบด้านอีไอเอแล้ว เหลือในส่วนของขั้นตอนรอ ครม.พิจารณาอนุมัติ หลังจากนั้นจึงจะมีการทำสัญญาลงนามเพิ่มเติมระหว่าง รฟม.และ NBM จึงจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้
ในส่วนของเอกชนมีความพร้อมดำเนินการก่อสร้างหากผ่านการอนุมัติจาก ครม.คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปีนี้ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี - 1 ปีครึ่ง เพื่อเปิดให้บริการได้ในปี 2565 ซึ่งจะสอดคล้องกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู สายหลัก ช่วงแคราย - มีนบุรี ที่ปัจจุบันงานก่อสร้างคืบหน้า 60% คาดว่าจะทยอยเปิดให้บริการปลายปี 2564 และเปิดเต็มระบบภายในปี 2565 ส่วนรถไฟฟ้าทั้งหมด 42 ขบวน จะทยอยรับมอบจนครบภายในปี 2564
สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ซึ่งผ่านการพิจารณาจาก ครม.เมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการขอเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) และสถานีนพรัตนราชธานี (PK26) โดยสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ขยับจากตำแหน่งเดิมไปทางขวา ด้านทิศตะวันออก ประมาณ 337 เมตร มาอยู่บริเวณด้านหน้าซอยรัตนาธิเบศร์ 4 เพื่อไม่ต้องใช้พื้นที่อุทยานมกุฏรมยสราญ และไม่บดบังด้านหน้าอุทยานฯ 
โดยจะก่อสร้างทางเดินยกระดับ หรือ Skywalk พร้อมติดตั้งระบบทางเดินเลื่อนอัตโนมัติบนทางเดินยกระดับ ทั้งขาไปและขากลับ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร
ส่วนสถานีนพรัตนราชธานี (PK26) ขยับจากตำแหน่งเดิมไปทางซ้าย ด้านทิศตะวันตก ของแนวสายทางประมาณ 313 เมตร มาอยู่บริเวณด้านหน้าสนามกีฬาไนติงเกล เนื่องจากกรมทางหลวงได้ก่อสร้างสะพานข้ามทางแยกบริเวณหน้าโรงพยาบาลนพรัตนฯ ซึ่งเป็นตำแหน่งของสถานี PK26 เดิม ทำให้ตำแหน่งที่ตั้งของสถานี PK26 มีระยะห่างในแนวดิ่ง จากผิวถนนถึงโครงสร้างใต้สถานีไม่เพียงพอตามมาตรฐานของกรมทางหลวงที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 5.5 เมตร

logoline