svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ประมงตั้งเป้าผลิต'กุ้งก้ามกราม'เพิ่ม 4 หมื่นตัน/ปี

23 ตุลาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมประมงเดินหน้าลุยแผนปฏิบัติการพัฒนากุ้งก้ามกราม วาง 4 ยุทธศาสตร์ ตั้งเป้าเพิ่มผลผลิต 4 หมื่นตันปีหน้า เน้นส่งออกตลาดจีนเป็นหลักมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง ระบุ เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ภายใต้โครงการแปลงใหญ่ มีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิต 4 หมื่นตันในปี 2565 จากปัจจุบัน 3 หมื่นตัน กรมฯได้จัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนากุ้งก้ามกราม พ.ศ. 2562-2565 สำหรับวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตกุ้งก้ามกรามตลอดห่วงโซ่อุปทานให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งพัฒนาช่องทางการตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ

โดยแบ่งประเด็นยุทธศาสตร์การดำเนินงานออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการวิจัยและพัฒนา 2. ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 3. ด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร และ4. ด้านการตลาด เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามอย่างครบวงจรโดยมีเป้าหมายและทิศทางที่ชัดเจน
"เชื่อมั่นว่าในอนาคตไทยจะสามารถพัฒนาศักยภาพในการผลิตกุ้งก้ามกรามที่มีประสิทธิภาพและเป็นฐานการผลิตกุ้งก้ามกรามเพื่อการส่งออกของโลกได้ โดยภาครัฐพร้อมที่สนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการอย่างยั่งยืนต่อไป"
เฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ระบุ ล่าสุดในปีงบประมาณ 2564 กรมฯได้ร่วมหารือกับกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางในการผลักดันเพิ่มผลผลิตให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ 4 หมื่นตัน/ปี จากปัจจุบันที่ทำผลผลิตได้ 31,838 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 7,900 ล้านบาท 
พร้อมเตรียมขยายฐานการตลาด เพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น การจัดทำ Platform ซื้อขายผลผลิตกุ้งก้ามกราม การจัดทำแบรนด์สินค้ากุ้งก้ามกรามไทย การจัดมหกรรมสินค้าเกษตรแปลงใหญ่ และการจัดทำคลัสเตอร์การส่งออกกุ้งก้ามกรามเพื่อบริโภคทั้งชนิดแช่เย็นและแช่แข็ง 
โดยเน้นเปิดตลาดไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน เนื่องจากเป็นตลาดที่มีกลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อสูง ซึ่งขณะนี้กรมฯได้วางแนวทางส่งเสริมและพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามเพื่อรองรับตลาดด้วยการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับการผลิตสัตว์น้ำ หรือ GAP : Good Aquaculture Practice โดยนำร่องในโรงเพาะฟักจำนวน 200 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และสุพรรณบุรี และในฟาร์มเพาะเลี้ยงจำนวน 400 แห่ง ใน 4 จังหวัด ที่เป็นแหล่งเลี้ยงกุ้งก้ามกรามที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ ราชบุรี นครปฐม ฉะเชิงเทรา และสุพรรณบุรี 
อีกทั้งยังได้พัฒนาระบบความปลอดภัยทางชีวภาพของฟาร์มกุ้งก้ามกราม ส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในบ่อดิน เฝ้าระวังโรคกุ้งก้ามกราม และปรับปรุงการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือ ทบ.1 โดยจะทำการสำรวจข้อมูลใหม่ในทุกจังหวัด

logoline